การเงิน / ภาษี และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลดัตช์ประเภทต่างๆ
ภาษีและสวัสดิการสังคม
ภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ เพื่อนำไปพัฒนาและบริการจัดการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในประเทศ ตลอดจนนำไปเป็นสวัสดิการช่วยเหลือพลเมืองในด้านต่างๆ
เนเธอร์แลนด์แบ่งการจัดเก็บภาษีออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. ภาษีส่วนกลาง
ระเบียบการจัดเก็บภาษีของเนเธอร์แลนด์จะถูกกำหนดเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีกรมสรรพากร (Belastingdienst) เป็นหน่วยงานหลักดูเรื่องการจัดเก็บภาษีเข้าส่วนกลาง จากนั้นจะมีการจัดสรรเงินภาษีนี้เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภคในระดับประเทศ การสนับสนุนด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านอื่นๆ ตลอดจนนำไปใช้เพื่อเป็นสวัสดิการสังคม เพื่อช่วยเหลือพลเมืองที่มีรายได้น้อย หรือมีข้อจำกัดเรื่องรายได้ เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนในสังคม
ตัวอย่างภาษีที่จัดเก็บโดยส่วนกลาง ได้แก่
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Inkomstenbelasting) ภาษีนิติบุคคล (Vennootschapsbelasting) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Omzetbelasting) ภาษีการจ้าง (Loonheffingen) ภาษีนำเข้า (invoerbelasting) ภาษีสรรพสามิต (Accijnzen) และอื่นๆ
2. ภาษีส่วนท้องถิ่น
สำนักงานเขตเทศบาล (gemeente) ที่เราอาศัยอยู่จะทำการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นประเภทต่างๆเพื่อนำมาพัฒนาและดูแลรักษาระบบสาธารณูปโภคในท้องถิ่น เพื่อให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบางเมืองของตน มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ภาษีโรงเรือน (Onroerende zaakbelasting) ภาษีบำบัดน้ำเสีย (Rioolheffing) ภาษีการกำจัดขยะ (Afvalstoffenheffing) ภาษีการบริหารจัดการระบบน้ำ (Waterschapsbelasting) และอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บภาษีในรูปแบบของค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เทศบาลได้ให้บริการแก่ประชาชน เช่น ค่าธรรมเนียมในการทำพาสปอร์ต ทำใบขับขี่ หรือค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาติในการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น
ภาษีที่เก็บไป ส่วนหนึ่งจะมีการคืนให้กับพลเมืองในรูปแบบเงินสนับสนุนและช่วยเหลือต่างๆ เช่น เงินบำนาญชราภาพ (AOW) เงินสงเคราะห์(Toeslagen) เงินช่วยชดเชย(uitkering)
2.1 เงินบำนาญเมื่อเกษียณอายุ
ก. เงินบำนาญชราภาพ (AOW)
คนที่อาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์จะมีการสะสมเงินบำนาญเมื่อชราภาพ (AOW) โดยอัตโนมัติ โดยคิดเป็นอัตราสะสม 2% ต่อปี และจะได้ เงินบำนาญนี้เต็มอัตรา ถ้าเราอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อย่างน้อย 50 ปี หากอาศัยอยู่ต่ำกว่านี้ เราจะได้เงินบำนาญในอัตราที่ลดหลั่นลงไป เมื่อครบกำหนดอายุเกษียณเราจะได้รับเงินบำนาญนี้จากหน่วยงาน Sociale verzekeringsbank (SVB) ไปจนตลอดชีวิต โดยเราจะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญตามจำนวนที่เราสะสม ตามที่กล่าวข้างต้น
ข. เงินสํารองเลี้ยงชีพ (pensioen)
สำหรับคนที่มีงานทำ สามารถสะสมเงินสำรองเลี้ยงชีพ (pensioen) เพื่อเป็นเงินสมทบในวัยเกษียณของตนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาขาอาชีพ ในการสะสมเงินสำรองเลี้ยงชีพนี้ จะหักจากเงินเดือนของเราส่วนหนึ่ง และนายจ้างจะสมทบให้ส่วนหนึ่ง แล้วนำส่งให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อถึงวัยเกษียณเราก็จะได้รับเงินในส่วนที่เราสะสมไว้ไปจนตลอดชีวิต
เราสามารถเช็คยอดจำนวนเงินบำนาญชราภาพ และเงินสำรองเลี้ยงชีพ ของเราได้โดยการใช้ Digid Code ในการล็อกอิน เข้าไปที่ https://www.mijnpensioenoverzicht.nl/
2.2 เงินสงเคราะห์(Toeslagen)
เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางสังคม รัฐได้นำเงินภาษีบางส่วน มาเป็นเงินช่วยเหลือ ผู้ที่มีรายได้น้อย ในด้านต่างๆ ที่เรียกว่า เงินสงเคราะห์ (Toeslagen) เงินสงเคราะห์นี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. เงินสงเคราะห์ค่าประกันสุขภาพ (zorgtoeslag)
ตามพระราชบัญญัติประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์ พลเมืองทุกคนที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป จะต้องซื้อประกันสุขภาพ (Zorgverzekering) เบี้ยประกันสุขภาพนี้จะขึ้นอยู่กับความคุ้มครองที่เราเลือก ถ้าเราต้องการเลือกการคุ้มครองที่สูงขึ้น เราก็จะจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้น หากเราเป็นผู้มีรายได้น้อย เราจะได้รับเงินสงเคราะห์ zorgtoeslag เพื่อช่วยเหลือในการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ โดยจะพิจารณาจากเงื่อนไขต่อไปนี้
1. มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป
2. มีประกันสุขภาพ
3. อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
4. รายได้ของเราและคู่ภาษี (Toeslag partner) ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะมีการปรับ เกณฑ์รายได้ทุกปี
5. มีทรัพย์สิน ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด (ซึ่งจะมีการปรับ เกณฑ์รายได้ทุกปี)
2. เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน (Huurtoeslag)
สำหรับผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และมีรายได้น้อย มีสิทธิ์ ได้รับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน (huurtoeslag) หากเรามีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนด
1. ค่าเช่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด (เกณฑ์ค่าเช่านี้จะมีการปรับขึ้นทุกปี)
2. ที่อยู่อาศัยที่เราเช่าจะต้องมีการแยกตัวเป็นอิสระ เช่น มีทางเข้าเป็นของตนเอง มีการแยกครัว และ ห้องน้ำออกจาก ผู้อยู่อาศัยอื่น อย่างชัดเจน
3. รายได้ของผู้อยู่อาศัย รวมทั้งคู่ภาษีจะต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด (มีการปรับเกณฑ์รายได้ทุกปี)
4. ทรัพย์สินของผู้ขอเงินสงเคราะห์และคู่ภาษีจะต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
5. อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
6. เขียนชื่อเข้าทะเบียนบ้านนั้น ตามที่เราอยู่อาศัยจริง
7. ผู้ขอต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
8. มีสัญญาเช่าที่เป็นลายลักษณ์อักษร
9. มีการชำระค่าเช่าที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น การชำระผ่านธนาคาร
**คนที่เขียนชื่อเข้าทะเบียนบ้านเดียวกันและมีรายได้ จะถูกนำรายได้ทั้งหมดมานับรวมกันเพื่อพิจารณาเป็นรายได้ของครอบครัว**
3. เงินสงเคราะห์บุตรสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย (Kingebonden Budget)
หากเราอาศัยหรือทำงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์แล้วมีบุตร เราจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรที่เรียกว่า Kinderbijlag เงินนี้เราจะได้รับจากหน่วยงาน SVB ทุกๆสามเดือน โดยไม่ได้พิจารณาจากรายได้ เงินนี้ให้เพื่อเป็นเงินสมทบช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพหรือดูแลบุตรที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ไม่ว่าบุตรนั้นจะเป็นบุตรที่ตนให้กำเนิดเองหรือบุตรบุญธรรม ตลอดจนบุตรที่ติดมากับสามีหรือภรรยา ก็ตาม เมื่อเราแจ้งเกิดบุตรหรือนำชื่อบุตรเข้าทำเบียนบ้านที่สำนักเขตเทศบาล (Gemeente) ข้อมูลจะถูกส่งไปที่สำนักงาน SVB แล้วเราจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร Kinderbijlag นี้โดยอัตโนมัติ
หากเรามีรายได้น้อยเราก็จะได้เงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มเติมที่เรียกว่า Kingebonden Budget โดยมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1. มีบุตรที่อายุ ต่ำกว่า 18 ปี
2. มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร Kinderbijslag
3. รายได้รวมของคนในครัวเรือนไม่สูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด (มีการปรับเกณฑ์รายได้ทุกปี)
4. อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
5. มีทรัพย์สินรวมไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
หากกรมสรรพากรพิจารณาว่า เราเข้าข่ายมีสิทธิ์ได้รับเงิน Kingebonden budget เราจะได้รับจดหมายแจ้งเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ได้รับจดหมายแจ้งแต่คิดว่า เราเข้าข่ายผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์นี้ เราสามารถ ยื่นขอรับเงินนี้ได้ ทางเว็บไซต์ของสรรพากรโดยตรง
เงินสงเคราะห์ผู้มีบุตร โดยบุตรจะต้องลงทะเบียนชื่อเข้าทะเบียนบ้านเดียวกับผู้มีบุตรนั้น แต่ ในกรณีที่หย่าร้าง บุตรไม่ได้ลงทะเบียนชื่อเข้าทะเบียนบ้านเดียวกับเราแต่เรารับบทมาดูแล อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์เราก็มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรนี้เช่นกัน
4. เงินสงเคราะห์สำหรับค่าบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (Kinderopvangtoeslag)
ผู้ที่ทำงานหรือกำลังเรียนอยู่ แล้วต้องนำบุตรไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (kinderopvang) จะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. มีงานทำ – ในที่นี้หมายรวมถึงคนที่ประกอบอาชีพอิสระ (zzpér) หรือ ประกอบกิจการส่วนตัว
2. กำลังเรียนอยู่ – ทั้งนี้จะต้องเป็นการ เรียนในสถานศึกษาที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. กำลังอยู่ในโปรแกรมของการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน – เมื่อคุณถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงาน (UWV) จะมีการจัดโปรแกรมขึ้น เพื่อให้เตรียมให้คุณสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง แล้วคุณต้องเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว เป็นต้น
เงินสงเคราะห์ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น หน่วยงานที่พิจารณาเรื่องเงินสงเคราะห์ (toeslagen) จะคำนวณยอดเงินสงเคราะห์ให้เราแบบชั่วคราวก่อนเสมอ โดยประมาณการเอาว่าในปีนั้นเราน่าจะมีรายได้เท่าไหร่ แล้วคำนวณเป็นยอดเงินสงเคราะห์ออกมาให้เราก่อน หลังจากที่ปีภาษีจบลง เรายื่นภาษีเงินได้บุคคล หน่วยงานจะทำการพิจารณาสิทธิและคำนวณเงินสงเคราะห์ของเรา อีกครั้งตามรายได้จริงหากเราได้รับเงินเกินจำนวนสิทธิ์ที่เราควรจะได้รับเราก็จะต้องทำการคืนเงินนี้ให้กับหน่วยงาน แต่ถ้าเราได้รับน้อยเกินกว่าที่เรามีสิทธิได้เราก็จะได้รับเงินในส่วนนี้ เพิ่มเติม
คนที่มีสิทธิได้รับเงิน ช่วยเหลือจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ของตัวเองอยู่เสมอเมื่อเห็นว่าตัวเอง มีคุณสมบัติที่ไม่เข้าเกณฑ์ควรจะแจ้งหยุดเงินช่วยเหลือนี้ทันที
สำหรับคนที่ต้องการขอรับเงินสงเคราะห์สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://www.belastingdienst.nl/toeslagen
5. เงินชดเชย (uitkering)ในการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับผุ้ที่มีรายได้ จะมีการแบ่งยอดภาษีออกเป็นสองส่วนคือ
1. เบี้ยประกันสังคม (premie volksverzekeringen)
หากเราอยู่อาศัยในเนเธอร์แลนด์จะถือเป็น “ผู้ประกันตน” ที่มีสิทธิได้รับสวัสดิการในฐานะพลเมือง ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ได้อยู่อาศัยแต่มีรายได้จากประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วยในการเสียภาษีเงินได้เราจะต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคม และรัฐจะนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆ และเป็นสวัสดิการให้แก่พลเมืองในประเทศ เช่น เงินบำนาญเมื่อพลเมืองชราภาพ (Algemene Ouderdomswet – AOW) , เงินชดเชยรายได้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต (Algemene nabestaandenwet – Anw) เงินชดเชยรายได้สำหรับผู้ที่ป่วยหรือทุพลภาพระยะยาว (Wet langdurige zorg – Wlz)
2. เบี้ยประกันตนสำหรับลูกจ้าง (werknemersverzekeringen)
ถ้าเราเป็นพนักงานที่อยู่ในระบบเงินเดือนจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เรียกว่า ภาษีการจ้าง (Loonheffingen) โดยนายจ้างจะหักเก็บภาษีส่วนนี้จัดส่งให้สรรพากร ในภาษีการจ้างนั้นจะมีเบี้ยประกันตนในฐานะลูกจ้าง (werknemersverzekeringen) รวมอยู่ด้วย เมื่อเราจ่ายเบี้ยประกันตนเราจะมีสิทธิได้รับการคุ้มครองต่างๆในฐานะลูกจ้าง ในรูปแบบเงินชดเชย
….
เงินชดเชย (uitkering) คือ เงินที่เราจะได้รับทดแทน เมื่อเราสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่งส่วนใดไป เช่น สูญเสียรายได้จากการถูกเลิกจ้าง, สูญเสียรายได้จากการเจ็บป่วยแล้วไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ยังหมายรวมถึง เงินชดเชยในกรณีที่เราเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย อีกด้วย
เงินชดเชยประเภทต่างๆ
1. เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง (WW-uitkering)
ถ้าเราถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มาจากการลาออกเองโดยสมัครใจ หรือเราสูญเสียชั่วโมงทำงาน อย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราสามารถขอเงินชดเชยได้จากหน่วยงาน UWV โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วง 3 ปี ก่อนถูกเลิกจ้าง เราทำงานอย่างน้อย 26 สัปดาห์
2 เงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วย (WIA-uitkering)
ถ้าเราป่วยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเดือน (บางส่วน) ให้เราไปจนครบ 2 ปี หลังจากนั้นเราจะขอรับเงินชดเชยการป่วยระยะยาวนี้ได้จากหน่วยงาน UWV
3. Ziektewet (ZW)
หากเราทำงานแต่ไม่มีนายจ้างเหมือนในระบบเงินทั่วไป เช่น ทำงานผ่านบริษัทจัดหางาน (uitzendbureau)
เป็นพนักงานฝึกงาน หรือ เป็นผู้มีอาชีพอิสระ ฯลฯ เรายังมีสิทธิได้รับเงินช่วยชดเชย เมื่อเจ็บป่วย
4. เงินชดเชย ค่าครองชีพสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย (bijstandsuitkering)
สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพจะได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือจากเทศบาลที่ตนอยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. เป็นพลเมืองเนเธอร์แลนด์หรืออาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
3. มีรายได้ไม่เพียงพอ ที่จะเลี้ยงดูตัวเอง
4. ไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ อื่นๆ
5. ไม่อยู่ในคุกหรือสถานกักกัน
Algemene Nabestaandenwet (Anw)
หากบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตลง ก็มักจะส่งผลให้ครอบครัวสูญเสียรายได้ รัฐจะจ่ายเงินชดเชย นี้ให้กับพาร์ทเนอร์ที่อยู่เบื้องหลัง ถ้า
1. มีบุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปี
2. สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน อย่างน้อย 45%