การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ การทำสัญญาอยู่ด้วยกัน
– การจดทะเบียนสมรส Huwelijk หรือ Trouwen
– การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ Geregistreerd partnerschap
– การใช้ชีวิตอาศัยอยู่ด้วยกัน Samenwonen
ในเนเธอร์แลนด์ ชาย-หญิง หรือ ชายสองคน หรือ หญิงสองคน สามารถจดทะเบียนสมรสกัน จดทะเบียนเป็นพาร์ทเนอร์กัน ทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (samenlevingscontract) ได้ หรือแม้แต่สามารถใช้ชีวิตอาศัยอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องมีพันธะทางกฎหมายใดๆ ก็สามารถทำได้ได้เช่นกัน
การจดทะเบียนสมรส และ การจดทะเบียนพาร์เนอร์ มีความคล้ายกันอย่างมาก การจดทะเบียนทั้ง 2 แบบนี้ ต่างก็มีผลทางกฎหมาย มีขั้นตอนการจดทะเบียนคล้ายกัน แต่จะมีความแตกต่างก็ต่อเมื่อ คุณมีบุตรมาก่อน หรือมีบุตรร่วมกัน และเมื่อจดทะเบียนกันแล้ว คุณและคู่ชีวิตของคุณจะร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินและทรัพย์สินร่วมกัน (ในระหว่างที่อยู่ด้วยกัน) แบบ 50/50 ไปโดยอัตโนมัติ ทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีมาก่อนของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หากหย่าร้างกันขึ้นอีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดชอบภาระในส่วนนั้น กฎนี้บังคับใช้เฉพาะสำหรับคนที่จดทะเบียนสมรส / พาร์ทเนอร์หลัง วันที่ 1 มกราคม 2561 (2018)
– สำหรับการหย่าร้างในคู่ที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์กัน ไม่จำเป็นต้องขอคำสั่งของศาล ทั้งนี้ทั้งคู่จะต้องยินยอมและต้องไม่มีบุตรที่มี อายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยกันขณะหย่าร้าง จึงจะสามารถจบความสัมพันธ์และหย่าร้างกันได้นอกศาล แต่หากจดทะเบียนสมรส ต้องส่งเรื่องยื่นขอต่อศาล ให้ศาลสั่งจบความสัมพันธ์เท่านั้น
– การจดทะเบียนสมรส ทั้งคู่ จะต้องกล่าวคำ “ตกลง” (ja word) ยืนยัน แต่สำหรับการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์มิได้บังคับ
– การจดทะเบียนพารทเนอร์ ไม่สามารถนำเอกสารไปปรับสถานภาพ การแต่งงาน (บันทึกฐานะแห่งครอบครัว) ที่ประเทศไทยได้ เนื่อง จากประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายรับรองการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
– การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ จะไม่มีการทำพิธีการ หรือ กล่าวดำเนินพิธีการใด ๆ จาก Ambtenaar หรือ เจ้าหน้าที่ กล่าวอธิบายอย่างง่าย คือ เข้าห้องลงลายมือชื่อต่อหน้า Ambtenaar เป็นอันเสร็จพิธีการ ไม่จำเป็นต้องจัดงานเลี้ยง หรือ เชิญแขกมาร่วมแสดงความยินดี ไม่ต้องวางแผนการแต่งงาน สวมชุดเจ้าสาวเจ้าบ่าว
หากคุณยังไม่มีความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ คุณก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ศึกษากันไปก่อน จนกว่าจะพร้อม หรืออาจจะใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ไปตลอดก็ได้ เพราะไม่มีเงื่อนไขของกฎหมายมาบังคับ
Samenlevingscontract
ระหว่างนี้หากคุณและคู่ของคุณอยากจะทำสัญญาอยู่ด้วยกันก็สามารถทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (Samenlevingscontract) เพื่อระบุข้อตกลงในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เช่น ค่าใช้จ่ายในบ้านใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ใครมีสิทธิในบัญชีธนาคารที่เปิดไว้ร่วมกัน หรือ ใครคือเจ้าของทรัพย์สินใด ๆ อย่างชัดเจน เป็นต้น ซี่งในการทำสัญญาขึ้นมาแบบนี้ สามารถร่างกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องจัดทำโดยทนาย แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องให้ทนายดำเนินการให้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับบุคคลที่สาม เช่น คุณต้องการทำสัญญาเพื่อรับเงินเกษียณ เงินบำนาญ ของคู่ของคุณ อันนี้จำเป็นที่จะต้องมีทนายเพื่อจัดทำเอกสาร
การทำสัญญาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนี้ ใช้กันมากเมื่อมีเรื่องของ “เงิน” และ “ธุรกิจ” เข้ามาเกี่ยวข้องในคู่ที่ไม่อยากใช้การจดทะเบียนสมรส หรือการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์มาเป็นหลักและข้อผูกมัดในทางกฎหมาย
การทำสัญญาชนิดนี้ สามารถทำได้โดยผ่าน notaris ออกมาเป็นสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปกติแล้วการทำสัญญาชนิดนี้จะมีผลให้คู่ที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้สมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์นั้น สามารถทำนิติกรรมร่วมกันทางกฎหมายได้เหมือนคู่สมรส/พาร์ทเนอร์ (ในบางหัวข้อที่ได้ตกลงกันไว้) เช่น เมื่อทั้งคู่จะซื้อบ้านด้วยกัน หรือเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตร เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อสรุปให้เห็นถึงความแตกต่างคร่าวๆของ การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ และ การทำสัญญา samenlevingscontract
การใช้ชิวิตอยู่ด้วยกันเฉย ๆ เรียกว่า samenwonen แตกต่างกับการทำสัญญา samenlevingscontract กล่าวคือการทำสัญญา samenlevingcontract คือสัญญาตกลงรับผิดชอบหน้าที่ หรือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ต่างกันกับ samenwonen คืออยู่ด้วยกันเฉย ๆ โดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น
เงื่อนไขสำคัญในการจดทะเบียนสมรส หรือ การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
– คุณและคู่สมรสของคุณ ต้องโสด และไม่ได้มีการจดทะเบียนกับบุคคลอื่นอยู่
– คุณและคู่สมรสของคุณ ต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี
– หากคุณหรือคู่สมรสของคุณ อยู่ภายใต้สถานะ curatele (บุคคลที่ต้องมีผู้ปกครองในการตัดสินใจทำธุรกรรมต่างๆ) จะต้องได้รับอนุญาตจาก curator (ผู้ปกครอง) เสียก่อน จึงจะสามารถขอจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ได้
– คุณและคู่สมรสของคุณ ต้องไม่เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน
การจดทะเบียนกับคู่สมรสต่างชาติ หรือคุณอาศัยอยู่นอกประเทศเนเธอร์แลนด์
– หากคุณและคู่สมรสของคุณไม่ได้เป็นคนเนเธอร์แลนด์ คุณหรือคู่สมรมรส อย่างน้อย 1 คน ต้องอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์
– หากคุณและคู่สมรสของคุณอาศัยอยู่นอกประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณหรือคู่สมรสของคุณ อย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นคนเนเธอร์แลนด์
– หากคุณเป็นต่างชาติ และต้องการจดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณต้องยังมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวคือ บัตรผู้อยู่อาศัยของคุณยังไม่หมดอายุ จึงจะสามารถขอจดทะเบียนสมรสได้
ฝ่าย เนเธอร์แลนด์
สำหรับฝ่าย เนเธอร์แลนด์นั้น เอกสารส่วนใหญ่จะมีอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของเทศบาลเมือง หรือ Gemeente ที่อาศัยอยู่ อยู่แล้ว โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ดังต่อไปนี้
– Passport หรือ บัตรประชาชน
– Passport หรือ บัตรประชาชน ของ พยาน อย่างน้อย 2 คน สูงสุด ไม่เกิน 4 คน
– Een echtscheidingsakte of akte van ontbinding van een geregistreerd partnerschap of een overlijdensakte หรือ ทะเบียนหย่า / ทะเบียนยกเลิกการเป็นพาร์เทเนอร์
– Een recent afschrift van uw geboorteakte ใบสูติบัตร
ฝ่าย ไทย
– Passport และ บัตรผู้อยู่อาศัย
– ใบสูติบัตรที่ผ่านการแปลและรับรอง
– ใบรับรองโสด ที่ผ่านการแปลและรับรอง
– ทะเบียนหย่า ที่ผ่านการแปลและรับรอง (ถ้ามี)
– ยื่นคำร้อง Voornemen huwelijk of geregistreerd partnerschap melden เพื่อขอจดทะเบียนสมรส / พาร์ทเนอร์ ต่อเจ้าหน้าที่พนักงานของเทศบาลเมือง หรือ Gemeente ที่คุณอาศัยอยู่ โดยจะต้องทำล่วงหน้าอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ก่อนวันที่คุณวางแผนจะจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์
– กรอกเอกสาร het formulier ‘Melding van voorgenomen huwelijk หรือ เอกสารร้องขอการจดทะเบียนสมรส พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของทั้งคู่
– ใช้ระยะเวลาขั้นต่ำ 2 สัปดาห์ หลังจากคุณยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ ทางเจ้าหน้าที่จึงจะยืนยันว่าคุณสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่ แล้วจึงสามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ แต่ในบางกรณีก็มีข้อยกเว้นให้จดทะเบียนได้ก่อน เช่น ได้รับการยืนยัน คู่สมรสของคุณป่วยหนักมากและมีความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตในไม่ช้า
– คุณจะต้องมีพยานในการจดทะเบียนของคุณ ขั้นต่ำ 2 คน และมากที่สุดไม่เกิน 4 คน พยานจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และจะต้องให้ชื่อและที่อยู่ต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน
– ในการจดทะเบียนสมรส เมื่อคุณยื่นคำร้องขอจดทะเบียน เจ้าหน้าที่จะนัดหมายวันจดทะเบียนสมรส และในวันนั้น คุณและคู่สมรสของคุณจะต้องมีการกล่าว คำยืนยัน (Ja word) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่พนักงาน แต่สำหรับการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ไม่มีข้อบังคับให้กล่าว
– ใบทะเบียนสมรสจะต้องมีการลงนามของคุณและคู่สมรสของคุณ รวมถึงพยาน และเจ้าหน้าที่พนักงาน จึงจะมีผลทางกฎหมายอย่างถูกต้อง
– ในการจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมให้แก่เทศบาลเมือง หรือ Gemeente แต่ในทุก ๆ เทศบาลเมืองก็จะมีวันที่สามารถจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ได้ฟรีปลอดค่าธรรมเนียมเช่นกัน สามารถสอบถามและตรวจสอบรายละเอียดกับเมืองที่คุณอยู่โดยตรง
– หลังจากจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่พนักงานแล้ว คุณสามารถไปจัดพิธีทางศาสนาในโบสถ์ได้ เพื่อขอรับพรได้อีก แต่จะไม่จัดก็ได้ ไม่มีข้อบังคับ
– คุณต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี
– คุณต้องไม่อยู่ในสถานะ curatele
– คุณต้องจัดทำสัญญาไปตามกฏของข้อกฏหมาย
– คุณสามารถจัดทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกันกับบุคคลได้มากกว่า 1 คน พร้อม ๆ กัน
ขั้นตอนการทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (Samenlevingscontract) สามารถเลือกทำได้เอง ไม่จำเป็นต้องให้สำนักงานทนายความดำเนินการให้ แต่อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า หากต้องการเขียนข้อตกลงเพื่อรับเงินเกษียณ เงินบำนาญของคู่ของคุณ ขอรับสิทธิต่าง ๆ แทนคู่ของคุณเมื่อเสียชีวิต จะต้องให้สำนักงานทนายความเป็นคนดำเนินการ
การจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทยนั้น สามารถทำได้เช่นกัน โดยขั้นตอนเป็นดังต่อไปนี้
ฝ่าย ชาย/หญิง สัญชาติเนเธอร์แลนด์
เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้มาจาก เนเธอร์แลนด์ โดยสามารถไปขอเอกสารเหล่านี้ได้จากทางเทศบาลเมือง หรือ Gemeente ที่อาศัยอยู่
– Passport
– ใบรับรองการเกิด หรือ ใบเกิด
– ใบรองรองโสด โดยที่ใบรับรองโสดจะต้องมีอายุไม่เกิน 12 เดือน
– ทะเบียนหย่า หากเคยผ่านการแต่งงานมาก่อน
ฝ่ายชาย/หญิง สัญชาติไทย
มีเอกสารที่จะต้องเตรียมดังต่อไปนี้
– Passport
– ใบรองรองโสด ผ่านการแปล และรับรองจากกรมการกงสุล และ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอรแลนด์ที่ประเทศไทย
– ทะเบียนบ้าน ผ่านการแปล และรับรองจากกรมการกงสุล และ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอรแลนด์ที่ประเทศไทย
เมื่อมีเอกสารครบแล้ว ให้ทำการนัดหมายกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเพื่อขอหนังสือรับรองความสามารถในการสมรส หรือ Certificate of legal capacity to marry และนำเอกสารที่ได้ไปแปลและรับรองที่กรมการกงสุล หลังจากนั้นก็สามารถนำไปยื่นที่สำนักงานเขต เพื่อทำการจดทะเบียนสมรสได้
การยุติ/ยกเลิก สถานภาพการสมรส,การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ หรือ การยกเลิกสัญญาข้อตกลงในการอาศัยอยู่ด้วยกัน สามารถทำได้อย่างไร
การยุติการสมรส
คุณต้องดำเนินการผ่านศาล และจำเป็นต้องใช้ทนายความ แต่หากคุณยังไม่พร้อมที่จะหย่าร้างเพราะติดปัญหาทางการเงิน หรือคุณอาจต้องรอให้ขายบ้านหรือขายสมบัติแล้วแบ่งเงินกันถึงจะหย่ากันได้ กรณีนี้คุณสามารถแยกกันอยู่ได้ ซึ่งเรียกว่า scheiden van tafel en bed และคุณยังมีสถานภาพแต่งงานอยู่ แต่คุณไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกันแล้ว
การยุติทะเบียนพาร์ทเนอร์
หากคุณทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่าจะยุติความสัมพันธ์ การยุติทะเบียนพาร์ทเนอร์ สามารถทำได้โดยไม่ต้องนำเรื่องขึ้นศาล แต่ในกรณีหากว่าคุณมีบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยกัน จำเป็นที่จะต้องยื่นเรื่องต่อศาล เกี่ยวกับแผนการดูแลปกครองบุตร หากศาลให้ความเห็นชอบแผนการปกครองบุตรของคุณ ศาลจะลงนามใช้อำนาจอนุมัติ แผนการดูแลปกครองบุตรของคุณ ซี่งจะมีขั้นตอนเช่นเดียวกับการหย่าร้างของคู่แต่งงานที่มีบุตร
การยุติทะเบียนพาร์ทเนอร์ ต้องใช้ทนายความดำเนินการ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งคุณทั้งคู่ร่วมกับทนายความลงนามในคำแถลงการณ์บันทึกข้อตกลงที่สำคัญเช่น ทรัพย์สมบัติ ค่าเลี้ยงดูต่ออดีตคู่พาร์ทเนอร์ที่มีรายได้น้อยกว่าและการแบ่งส่วนเงินบำนาญ และ ทนายความจะยื่นแถลงการณ์ดังกล่าวต่อเทศบาลเมือง หรือ Gemeente ว่าคุณทั้งคู่มีข้อตกลงอะไรบ้าง จากนั้นจึงจะถือว่าเป็นการยุติทะเบียนพาร์ทเนอร์
หากว่าหนึ่งในคุณทั้งคู่ ไม่เห็นด้วยในการยุติทะเบียนพาร์ทเนอร์ ฝ่ายที่ต้องการยุติต้องส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลและมีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับการหย่าร้างของการแต่งงาน
การยุติสัญญาข้อตกลงการอยุ่ด้วยกัน
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยุติขอตกลงการอยู่ร่วมกันได้แม้ทางจดหมาย ผลต่อการยุติสัญญาจะถูกระบุไวแล้วเมื่อ เริ่มทำสัญญาผ่านทางโนตาริส
การจดทะเบียนสมรสและทะเบียนพาร์ทเนอร์
หน้าที่ในการดูแลและเลี้ยงดูอดีตคู่สมรสหรือพาร์ทเนอร์ที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอในการดำรงชีพ หลังจากหย่าร้าง ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าจะได้รับเงินบางส่วนจากอดีตคู่สมรสหรือพาร์ทเนอร์เดิม ซึ่งเรียกว่า ค่าเลี้ยงดู (Alimentatie) ส่วนแบ่งของเงินบำนาญ ในระหวางชีวิตสมรสหรือทะเบียนพาร์ทเนอร์ได้มีการสะสมเงินบำนาญกันไว้ เมื่อคุณหย่ารางกัน เงินส่วนนี้จะถูกแบ่งด้วย
หากมีสัญญาข้อตกลงอยู่ด้วยกัน
เมื่อยุติสัญญา คุณไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันแล้ว ยกเว้นว่าในสัญญาได้มีการระบุไว้ เช่น คุณตกลงกันว่าจะมีการแบ่งสิ่งของ และมีการระบุไว้ว่าใครจะเป็นคนอยู่บ้านต่อได้ หรือ คุณจะได้รับค่าเลี้ยงดูจากอดีตพาร์ทเนอร์-ของคุณหรือไม่
บุตร
สิทธิและหน้าที่ต่อบุตรที่มีร่วมกัน ยังคงอยู่หลายอย่างหลังจากหย่าร้าง ไม่ว่าคุณจะมีทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม ความสัมพันธ์ทางครอบครัวและสิทธิในตัวบุตรก็ยังคงอยู่ความรับผิดชอบต่อบุตรยังคงอยู่ แม้ทางกฎหมายจะแยกสิทธิของคุณต่อบุตรหลังจากหย่าร้าง บางกรณีศาลอาจจะกำหนดสิทธิให้ใครเป็นผู้ดูแลบุตรและใครมีสิทธิมาเยี่ยมมาเจอบุตรได้ ซึ่งอีกฝ่ายจะต้องยินยอมและพาบุตรไปพบอีกฝ่าย คุณยังมีหน้าที่และอบรมบุตรของคุณ รวมถึงการดูแลค่าใช้จ่ายจนกระทั่งบุตรมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อคุณหย่าร้าง ต้องมีการจ่ายค่าเลี้ยงดูบางส่วนให้แก่ฝ่ายที่ได้สิทธิดูแลบุตร คุณสามารถตกลงกันได้ว่าค่าเลี้ยงดูจะเป็นจำนวนเท่าไร หากไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยดี คุณจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลให้ตัดสินให้
การจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ตามกฎหมายในเนเธอร์แลนด์ คุณสามารถเลือกเงื่อนไขได้ ดังต่อไปนี้
– แต่งงานแบบแบ่งสมบัติและหนี้สิน
– แต่งงานจดทะเบียนแบบมีเงื่อนไข
การสมรสก่อน 1 มกราคม 2561 (2018) ตามกฎหมายถ้าไม่มีการทำเอกสารลงทะเบียนใด ๆ คุณได้
– จดทะเบียนแบบแบ่งสมบัติและหนี้สิน
– มรดกและทรัพย์สินตกทอดจัดเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติที่มีร่วมกัน ในบางกรณีอาจเข้าการยกเว้น เช่น การรับมรดกจากผู้ให้ที่ได้มีการระบุชัดเจนในพินัยกรรม
– บริษัทของคุณเอง ตกเป็นทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องมีการแบ่งกัน
– กรณีที่มีการหย่าร้าง ทั้งทรัพย์สินและหนี้สินจะหารครึ่งทั้งหมด
ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 (2018) มีการจำกัดการแบ่งทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนี้
– ทรัพย์สินและหนี้สินก่อนการแต่งงาน ถือเป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคล
– มรดกและทรัพย์สินตกทอด ก่อนหรือหลังแต่งงานเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ผู้ให้มรดกสามารถระบุในพินัยกรรมได้ว่าคู่สมรสจะมีส่วนในทรัพย์สมบัตินั้น ๆ หรือไม่
– กิจการบริษัทของคุณก่อนการจดทะเบียน ถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล
– กรณีการหย่าร้าง คู่สมรสจะหารครึ่งทรัพย์สินและหนี้สินในระยะเวลาหลังการจดทะเบียนเท่านั้น
การพิสูจน์หลักฐานของทรัพย์สินส่วนบุคคล
ในกรณีของการหย่าร้าง คุณต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เช่นใบแสดงการซื้อขาย หรือพินัยกรรมการรับมรดกตกทอด
ทั้งนี้และทั้งนั้น คุณสามารถทำเรื่องที่สำนักงานกฎหมายถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ในการแต่งงานได้เสมอ