บุตรกับสัญชาติไทย / การเกณท์ทหาร
หน้าที่หนึ่งของชายไทย ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 บัญญัติว่า ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน การมีสัญชาติไทยตามกฎหมายหมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ผู้ใดจะมีสัญชาติไทย ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ
ผู้ที่จะได้สัญชาติไทยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 และพระราชบัญญัติ สัญชาติเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ดังนี้
- การได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
- การได้สัญชาติโดยการแปลงสัญชาติ
- การได้กลับคืนสัญชาติไทย
- การได้สัญชาติโดยการสมรส
ในกรณีเด็ก ลูกครึ่งไทย-ดัตช์ นั้น ถือเป็นกรณี การได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เด็กลูกครึ่งไทย-ดัตช์ จะมีสิทธิ์ในทั้ง 2 สัญชาติ คือทั้งสัญชาติไทย และสัญชาติเนเธอร์แลนด์ การถือ 2 สัญชาติ หมายความว่า เราเป็นทั้งคนไทยเต็มร้อย และเป็นคนดัตช์เต็มร้อย แปลว่า เรามีหน้าที่ของการเป็นพลเมืองทั้งไทยและดัตช์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งคู่ แต่การที่เด็กลูกครึ่งจะมีสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ได้นั้น ก็ต้องนำสูติบัตรดัตช์ ไปทำการแปลและดำเนินการแจ้งเกิดที่สถานทูตไทย รวมถึงต้องนำชื่อเด็กไปเข้าชื่อในทะเบียนบ้านที่เมืองไทยด้วย เพื่อที่เด็กจะได้มีเลขประจำตัวคนไทย 13 หลัก
ในกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้ทำการแจ้งเกิดลูกที่สถานทูตไทย ณ กรุงเฮก หรือไม่เอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย เด็กคนนั้นไม่ได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ในกรณีนี้ เด็กจะไม่เจอหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหารและไม่มีเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน รับหมายเรียก ผ่อนผัน เพราะเด็กคนนั้นไม่มีสิทธิความเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ หมายความว่าเด็กคนนี้จะไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆในประเทศไทยได้
ขั้นตอนการรับราชการทหารตามกฎหมาย
แผนภูมิขั้นตอนการรับราชการทหาร
การลงทะเบียนทหารกองเกิน
ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้าปีที่ 18 ใน พ.ศ.ใด (17+ พ.ศ.เกิด) ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ. นั้น เวลาในการไปแสดงตนจะมีเวลา 1 ปี คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของ พ.ศ. ที่บุคคลนั้นมีอายุย่าง 18 ปี โดยในเดือนกันยายนของทุกปีนายอำเภอจะประกาศแจ้งเตือน ให้ผู้ที่มีอายุถึงเขตที่จะต้อง ลงบัญชีทหารกองเกินไปลงบัญชีทหารกองเกิน การลงบัญชีทหารกองเกินให้ผู้ขอลงบัญชีปฏิบัติ ดังนี้
บุคคลทั่วไปให้ไปยื่นใบแสดงตนเพื่อขอลงบัญชีทหารกองเกินแบบ (สด.44) พร้อมด้วยสูติบัตร หรือบัตรประจำตัว ประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอลงบัญชีต่อนายอำเภอท้องที่ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ซึ่งผู้แจ้งแทนต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ขอลงบัญชี นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะสอบสวน เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ถ้าไม่มีผู้มาแจ้งแทน ให้ถือว่าผู้นั้น หลีกเลี่ยงไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน และเมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินเสร็จแล้ว นายอำเภอหรือผู้อานวยการเขตจะ ออกใบสำคัญที่เรียกว่า แบบ สด.9 ให้ผู้นั้นไว้เป็นหลักฐานแสดงว่าบุคคลนั้นได้ลงบัญชีเป็นทหารกองเกินแล้ว
กรณีที่บุคคลที่อยู่นอกประเทศ ให้คนที่อยู่ในประเทศมาลงบัญชีทหารกองเกิน เมื่อมาลงบัญชีเองไม่ได้ สามารถมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องที่บรรลุนิติภาวะแล้วไปจัดการลงทะเบียนแทนให้ได้ จะไปเดือนไหนในปีนั้นก็ได้ แต่ถ้าพ้นปีนั้นไปแล้ว การลงทะเบียนทหารกองเกิน เจ้าตัวต้องไปด้วยตัวเอง ไม่มอบอำนาจได้แล้ว เจ้าหน้าที่สอบสวนจะสัญชาติโดยพิจารณาหลักฐานจาก สูติบัตร ทะเบียนบ้าน พยานบุคคล หลักฐานการแปลงสัญชาติหรือ ได้สัญชาติตามพระราชบัญญัติสัญชาติ เอกสารสมรส กรณีแวดล้อมอื่นๆ ที่ควรเรียกประกอบการพิจารณา พร้อมด้วยรูปถ่าย ติดสำเนา แล้วนายอำเภอจะรวบรวมเอกสารการสอบสวน แล้วเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ เพื่อสั่งการต่อไป เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงรับลงบัญชีทหารกองเกิน เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว จะได้ใบสำคัญ ที่เรียกว่า แบบ สด.9 ซึ่งเป็นใบสำคัญที่จะนำมาใช้ต่อในการผ่อนผัน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงบัญชีเมื่ออายุย่าง 18 ปี ต้องมาขอลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองจนถึงอายุ 45 ปีบริบูรณ์ แต่จะให้ผู้อื่นมาแจ้งแทนไม่ได้ ผู้ที่ไม่ยอมมาลงบัญชีทหารกองเกิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การเรียกและการตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ
ทหารกองเกิน เมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปีในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอภูมิลำเนาทหารของตน ภายในพุทธศักราชนั้น ดังนั้น ทหารกองเกินที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ (20 + พ.ศ.เกิด) ต้องไปรับหมายเรียกด้วยตนเอง ณ อำเภอภูมิลำเนาทหาร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิ้นเดือนธันวาคมของปีที่อายุ 20 ปีบริบูรณ์ โดยในเดือนตุลาคมทุกปี นายอำเภอจะประกาศให้ทหารกองเกินที่มีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพุทธศักราชนั้น ไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอ สำหรับชายไทยที่รับการศึกษาในต่างประเทศ ถือผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกตามหมายเรียก
การผ่อนผันนักเรียนซึ่งไปศึกษาในต่างประเทศ
นักเรียนผู้ที่ได้ไปศึกษาในต่างประเทศมีอายุย่างเข้า 21 ปี จะต้องดาเนินการขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับ
ราชการทหารกองประจาการ ซึ่งนักเรียนที่ไปศึกษาในต่างประเทศมี 2 กรณี คือ
- นักเรียนที่ไปศึกษาในต่างประเทศด้วยทุนของรัฐบาล ซึ่งอยู่ในความปกครองทั้งฝ่ายวิชาการและความประพฤติของผู้ดูแลนักเรียนไทยของรัฐบาลไทยในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะต้องแจ้งให้สำนักงาน กพ. ทราบและสำนักงาน กพ.จะเป็นหน่วยงาน ที่ดำเนินการขอผ่อนผันการตรวจเลือก
- นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นนักเรียนที่ใช้ ทุนส่วนตัวไปศึกษาในต่างประเทศ จะต้องดำเนินการเอง ดังนี้
กรณีได้เดินทางไปศึกษาในต่างประเทศแล้ว ให้บิดา มารดา ผู้ปกครองดำเนินการยื่นคำร้องขอผ่อนผัน ต่อนายอำเภอ สัสดีอำเภอ ผู้อำนวยการเขต ตามภูมิลำเนาทหาร โดยมีหลักฐานเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือการรับเข้าศึกษาในสถานศึกษา สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (สด.9) สำเนาหมายเรียก (สด.35) สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางและวีซ่า และหนังสือรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุล ว่านักเรียนผู้นั้นกำลังศึกษาวิชาอะไร สถานศึกษาใด ในใบรับรองของสถานศึกษาควรมีระบุว่า กำลังศึกษาชั้นปีที่เท่าไร คณะสาขาที่เรียนการศึกษามีหลักสูตรกี่ปี และคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไร ซึ่งจะได้ช่วยประหยัดเวลา เราจะได้ไม่ต้องมาผ่อนผันปีต่อปีอยู่ แต่ผ่อนผันไปจนสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนั้นเลย ถ้าเอกสารใดเป็น ภาษาอังกฤษให้แปลเป็นภาษาไทย โดยลงชื่อตำแหน่งผู้แปลด้วย แล้วนายอำเภอจะดำเนินการพิจารณาเสนอจังหวัด
- สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) และหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) –> แบบ สด. 35 ไม่ได้บังคับ ถ้ามี ก็เอามาแสดง ถ้าไม่มีก็ไม่ต้อง
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- หนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษาที่แปลเป็นไทย และลงชื่อผู้แปลเรียบร้อยแล้ว
*สามารถเช็คอัพเดทเอกสารที่ทางสถานทูตต้องการได้โดยตรงที่เว็บไซต์ของสถานทูต
สิ่งที่เราจะได้รับจากสถานทูตคือ “หนังสือรับรองจากสถานทูต” จากนั้น ให้เรานำหนังสือรับรองนี้ ไปทำเรื่องผ่อนผันที่สัสดีเขตหรือสัสดีอำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองไทย
การยื่นขอผ่อนผันต้องยื่นในเดือนกุมภาพันธ์ หรือก่อนถึงวันเกณฑ์ทหารไม่เกิน 15 วัน ในปีที่ชายไทยอายุ 21 ปี (เอาปี ค.ศ.เกิด +21 = ปีที่ต้องยื่นเรื่องผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร) หรือก็คือปีถัดจากที่เราได้รับหมายเรียกนั่นเอง การยื่นขอผ่อนผันสามารถมอบฉันทะให้ญาติ หรือผู้ปกครองไปยื่นแทนได้ เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องกลับไทยมาทำเรื่องเอง
เอกสารที่ต้องใช้ในการทำเรื่องขอผ่อนผันการตรวจเลือก
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบสำคัญ (แบบ สด.9) หมายเกณฑ์ หรือหมายเรียก (แบบ สด.35)
- หนังสือรับรองจากสถานทูต
- หนังสือรับรองหลักสูตรของสถานศึกษา ที่แปลเป็นภาษาไทยและลงชื่่อผู้แปลเรียบร้อยแล้ว
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับหมายเรียกแทน)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
ยื่นขอผ่อนผันที่นายอำเภอที่ลูกเรามีชื่อในทะเบียนบ้าน โดยเมื่อเสร็จเรื่อง และได้รับอนุมัติแล้ว เราจะได้เอกสาร ชื่อ หนังสือผ่อนผัน หรือแบบ สด.41 มาเก็บไว้เป็นหลักฐาน
การผ่อนผันจะสิ้นสุดลงเมื่อ
- สำเร็จการศึกษาหรือออกจากสถานศึกษานั้น หรือย้ายสถานศึกษา
- อายุ 26 ปีบริบูรณ์
- สมัครใจขอยกเลิกการผ่อนผัน
การพ้นฐานะยกเว้นหรือผ่อนผัน
ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการเรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการหรือผ่อนผันการตรวจเลือกฯ หากเป็น ผู้ที่พ้นจากฐานะการได้รับสิทธิยกเว้นหรือผ่อนผัน ให้แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนเองอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากฐานะนั้น
หนังสือผ่อนผันการรับราชการทหาร
เอกสารที่ต้องใช้
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
- ใบระเบียนแสดงผลสำเร็จการศึกษา หรือหลักฐานแสดงว่าออกจากสถานศึกษา
เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว เราจะได้เอกสารมาเรียกว่า ใบรับ (แบบ สด.10)
การขอยกเว้น
การเป็นทหารได้นั้น ร่างกายและจิตใจต้องแข็งแรงสมบูรณ์พอสมควร ดังนั้นบางคนที่ร่างกายไม่พร้อม ก็สามารถทำเรื่องขอยกเว้นได้ โดยทางกองการสัสดีก็ได้การกำหนดรายชื่อโรคที่ทำให้ได้รับยกเว้นไว้แล้ว
ชายที่มีสัญชาติไทยอายุ 21 ปี ต้องรับหมายเรียกและเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการตาม หมายเรียก และผู้ที่มีอายุ 22 ปี ถึง 29 ปี ซึ่งยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกฯ เนื่องจากไม่ได้ลงบัญชีพร้อมกับคนชั้นปีเดียวกัน แต่มาลงในภายหลัง หรือผู้ที่ได้รับการยกเว้นผ่อนผันเมื่อหมดเหตุในการยกเว้นผ่อนผัน ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือก ในเดือน เมษายน จะมีปัญหาการตรวจร่างกายของกรรมการแพทย์ เนื่องจากในวันทำการตรวจเลือกทหาร กรรมการแพทย์จะมี เครื่องมือตรวจได้เฉพาะโรคทั่ว ๆ ไปที่มองเห็นจากสภาพภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถตรวจบางโรคที่อยู่ภายในได้ซึ่งต้องใช้ เครื่องมือพิเศษเท่านั้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของทหารกองเกิน ทางราชการจึงให้ทหารกองเกินไปตรวจโรคก่อนเข้ารับการ ตรวจเลือกได้ หากทหารกองเกินผู้ใดรู้ว่าตนเองมีโรคที่น่าจะขัดต่อการรับราชการทหาร ทหารกองเกินสามารถใช้ใบรับรองผล การตรวจโรคจากโรงพยาบาลในสังกัดส่วนกลางกองทัพบก รวม 22 แห่ง ทั่วประเทศ มาใช้ประกอบในวันทำการตรวจเลือกได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่จะเข้ารับการตรวจเลือกทหาร
ใบรับรองแพทย์ที่ทหารกองเกินนำมาแสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือก ให้ถือเสมือนเป็นเพียงหลักฐานซึ่งบอกให้ทราบถึงประวัติความเจ็บป่วยที่น่าเชื่อถือ และเป็นข้อสังเกตในการตรวจวินิจฉัยโรคของคณะกรรมการแพทย์เท่านั้น
เมื่อสิ้นสุดการผ่อนผันแล้ว หรือเรียนจบแล้ว ก็ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร หรือเมื่อทำเรื่องยกเว้นแล้ว คือไปตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกเช่นกัน (ถึงจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหาร แต่เจ้าหน้าที่สัสดีต้องการพบเห็นตัวจริง เห็นเอกสารจริงๆ)
ปกติการตรวจเลือกทหาร จะกระทำกันในระหว่างวันที่ 1 – 11 เมษายนของทุกปี อันนี้ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกด้วยตนเอง ไม่สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นมาแทนได้
การเตรียมตัวและเอกสารที่ต้องใช้การตรวจเลือก
- ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
- หมายเกณฑ์ หรือหมายเรียก (แบบ สด.35)
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบสำเร็จการศึกษา ปริญญาบัตร
- ใบรับรองแพทย์ (กรณีที่ทำเรื่องยกเว้น)
- การแต่งกาย ให้แต่งกายแบบสบายๆเสื้อยืด กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้าแตะได้เลย เพราะจะมีขั้นตอนของการวัดขนาดร่างกาย ซึ่งต้องถอดเสื้อ ดึงกางเกงขึ้นเหนือหัวเข่า
- ไปรายงานตัวตามสถานที่ที่กำหนด ก่อนเวลา 7 โมงเช้า
ในการตรวจเลือกจะมีการจับสลากใบดำ-ใบแดง ถ้าได้ใบดำ คือ “ปล่อย” ไม่ต้องเป็นทหาร แต่ถ้าได้ใบแดง ก็ตรงกันข้ามคือต้องรับราชการทหาร นอกจากนั้นยังมีการให้สมัครใจเข้ารับราชการทหารด้วย สำหรับคนที่ไม่ชอบเสี่ยงดวง หรือใจอยากเป็นทหารอยู่แล้ว ระยะเวลาที่ต้องรับราชการทหารสำหรับคนที่สมัครก็สั้นกว่าคนที่โดนจับได้ใบแดงกันครึ่งต่อครึ่งเลย และสำหรับคนที่เรียนจบจากต่างประเทศ ก็สามารถใช้วุฒิการศึกษา เพื่อขอสิทธิในการลดวันรับราชการทหารลงด้วย
เมื่อผ่านการตรวจเลือกแล้ว จะได้รับเอกสารที่เรียกว่า ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหาร (แบบ สด.43) ให้มาเก็บไว้ ซึ่งใบนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการสมัครงานที่เมืองไทยได้ว่าเราผ่านการตรวจเลือกทหารแล้ว
แต่ถ้าใครที่จับได้ใบแดง หรือสมัครใจเข้ารับราชการทหาร เมื่อปลดประจำการแล้ว ก็จะกลายเป็นทหารกองหนุน และได้รับเอกสารรับรองจากทางการ เรียกว่า สมุดประจำตัวและใบสำคัญของทหารกองหนุน (สด.8)
การเรียกกำลังพลของทหารกองหนุน
ทหารกองหนุนมี 3 ประเภท
- ทหารกองหนุนประเภท 1 —> โดนเกณฑ์ทหาร จับได้ใบแดง หรือสมัครใจเป็นทหาร พอฝึกครบแล้ว ปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1
- ทหารกองหนุนประเภท 2 –> ไม่โดนเกณฑ์ทหาร จับได้ใบดำ –> จัดเป็นทหารกองเกิน จนอายุ 30 ปี จะถูกปลดไปเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2
- ทหารกองหนุนประเภท 3 –> ชายไทยที่อายุ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
ทุกปี ทางการเขาจะมีการสุ่มเรียกกำลังพลสำรอง โดยคนที่เป็นทหารกองหนุนทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะโดนสุ่มเรียกให้ไปเข้ารับการทบทวนการฝึก การเรียกกำลังพลนี้ บางครั้งเรียกเพื่อตรวจสอบ ก็กินเวลาแค่วันเดียว บ้างก็เรียกไปทบทวนการฝึกกำลังสำรองเลย อันนี้กินเวลา 2 เดือน — แต่ถ้าผู้ถูกเรียกอยู่ต่างประเทศ สามารถมอบหมายให้ญาติไปยื่นเรื่องที่สัสดีอำเภอเพื่อขอผ่อนผันได้ โดยแจ้งเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถมารวมพลได้ตามจดหมายเรียก ควรแจ้งภายหลังจากได้รับจดหมายไม่เกิน 30 วัน— ถ้าไม่ไปและไม่แจ้งต่อทางการถือว่ามีความผิด
ชายไทยจะหมดภาระการเป็นทหาร(ปลดประจำการ)เมื่ออายุ 46 ปี
ที่มา
https://dmd.mod.go.th/personnel-recruitment/document/ppt/คมอการปฏบตตามพรบ-2497-ป-63_compressed.aspx
https://www.dutchthingy.nl/artikelen/การเข้ารับราชการทหาร-สำ/