ตั้งครรภ์และคลอดลูก
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ยังคงติด 1 ใน 5 อันดับ ในการเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการมีลูก และแน่นอนว่าเรื่องของระบบสาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์ นั้นย่อมมีความแตกต่างจากที่ประเทศไทย สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนจะมีลูกควรรู้เรื่องสิ่งต่อไปนี้ว่า หากต้องตั้งครรภ์และคลอดลูกที่นี่ ระบบสาธารณสุขของประเทศนี้ จะมีการดูแลหญิงตั้งครรภ์และเด็กแรกเกิดอย่างไรบ้าง
การตั้งครรภ์และคลอดลูกในประเทศเนเธอร์แลนด์
หญิงตั้งครรภ์ ในเนเธอร์แลนด์ ไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วย ดังนั้น หมอบ้าน ไม่ใช่ที่รับฝากครรภ์ เมื่อทำการตรวจจนแน่ใจแล้วว่า ตั้งครรภ์ ให้เตรียมหาผดุงครรภ์ หรือ ในภาษาดัตช์ เรียกว่า verloskundige ซึ่งสามารถสอบถามรายชื่อแนะนำได้จาก หมอบ้าน หรือ คนรู้จัก หรือ จะค้นหาเอง
ได้จากเว็บไซด์ https://deverloskundige.nl/zoek-een-verloskundige โดยกรอกรหัสไปรษณีย์หรือชื่อเมืองที่อาศัยอยู่
นอกจาก Verloskundige ที่มีหน้าที่ดูแลตรวจครรภ์และดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังมี gynaecoloog หรือ สูตินรีแพทย์ รับหน้าที่ดูแลตรวจครรภ์ในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของแม่หรือลูก ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกผดุงคครรภ์ โดยผดุงครรภ์จะพิจารณาและส่งตัวต่อให้แพทย์เมื่อพบความเสี่ยง เช่น แม่เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น
ความแตกต่างของการฝากครรภ์ที่นี่ กับเมืองไทยคือ ไม่มีการระบุขอฝากครรภ์พิเศษเพื่อเลือกตรวจหรือเลือกคลอด กับแพทย์ท่านไหนเฉพาะเจาะจง การตรวจครรภ์และการทำคลอด เป็นไปโดยหมอหรือผดุงครรภ์ที่เข้าเวร
การทำนัดครั้งแรก มักจะเกิดขึ้นในช่วง สัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจะมีการวัดความดัน ยังไม่มีการตรวจทางกายภาพของครรภ์ แต่จะเป็นการซักประวัติและให้ข้อมูลเสียเป็นส่วนใหญ่ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- วันกำหนดคลอด นอกจากจะสอบถามวันแรกของประจำเดือนล่าสุดที่มาแล้ว คุณแม่จะถูกส่งตัวให้ไปตรวจอัลตราซาวด์ ที่เรียกว่า termijnecho ในช่วงสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์ เพื่อประกอบการกำหนดวันคลอดด้วย
- ประวัติการตั้งครรภ์ของครั้งก่อนหน้านี้ เป็นอย่างไร หากครั้งนี้ไม่ใช่การตั้งครรภ์แรก
- ซักประวัติสุขภาพ ของว่าที่คุณพ่อ และคุณแม่ ว่ามีโรคประจำตัว ใช้ยาอะไรเป็นประจำ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติดหรือไม่ ทำงานอะไร เป็นต้น
- ซักประวัติสุขภาพ ของสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว
- ทำจดหมายส่งตัวตรวจเลือด เพื่อหากลุ่มเลือด และมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ ซึ่งคุณมีสิทธิปฏิเสธการตรวจได้ หากไม่ต้องการ
- ผดุงครรภ์ สูตินรีแพทย์ จะอธิบายเรื่องการตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม หาความเสี่ยงต่อดาวน์ซินโดรม ในปัจจุบันได้มีการแนะนำการตรวจที่เรียกว่า NIPTEST ซึ่งหากต้องการตรวจ สามารถตรวจเลือดได้ในช่วงอายุครรภ์ สัปดาห์ที่ 11-14 ตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และไม่ครอบคลุมในประกันสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งให้ตรวจสอบรายละเอียดกรมธรรม์ที่มีกับบริษัทประกัน และคุณก็สามารถปฏิเสธการตรวจได้ หากไม่ต้องการ
เมื่อผ่านการนัดครั้งแรกไปแล้ว จะเริ่มมีการตรวจทางกายภาพ โดยมีการวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก คลำท้องดูการเติบโต ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ ของทารกในครรภ์ ถาม-ตอบ ข้อสงสัย ให้ข้อมูลที่สำคัญในแต่ละช่วงอายุครรภ์ และทำการนัดครั้งต่อๆไป โดยการตรวจครรภ์ จะมีการทำนัดทุกๆ 4 สัปดาห์ และเพิ่มความถี่เป็นทุกๆสัปดาห์ ในระยะใกล้คลอด
สำหรับการตั้งครรภ์ที่เป็นปกติ จะได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ หรือ ในภาษาดัตช์ เรียกว่า echo เป็นจำนวน 2 ครั้ง พื้นฐาน คือ
- Termijnecho (ช่วงสัปดาห์ที่ 10-12 ) เพื่อกำหนดวันคลอด และดูว่า เป็นการตั้งครรภ์แฝดหรือมากกว่า
- 20-weken echo ( สัปดาห์ที่ 20 ) เป็นการตรวจเพื่อดูความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ดูการเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงดูปริมาณน้ำคร่ำ ว่ามีเพียงพอหรือไม่
นอกจากนี้แล้ว ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ผดุงครรภ์ของคุณอาจตัดสินใจทำอัลตราซาวด์ เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ โดยมีดังต่อไปนี้:
- Vroege echo (ช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 ) เวลามีการเสียเลือดในช่วงต้นๆของการตั้งครรภ์ หรือมีข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นตั้งครรภ์นอกมดลูก
- groei echo (ช่วงสัปดาห์ที่ 22-40 ) เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารก โดยจะมีการวัดในส่วนของศีรษะ รอบเอว และความยาวขา ซึ่งอาจจะมีการตรวจหลายครั้ง เพื่อนำค่าที่วัดมาทำกราฟให้ภาพการเจริญเติบโตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- liggingsecho (สัปดาห์ที่ 36) เพื่อดูตำแหน่งท่านอนของทารกในครรภ์ ว่าได้กลับหัวลงสู่ช่องคลอด แล้วหรือยัง
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานประจำ หรือ เป็นเจ้าของธุรกิจ สามารถใช้สิทธิ์ลาคลอด และได้รับเงินเดือนระหว่างลาคลอด โดยได้สิทธิในการลาคลอดทั้งหมด 16 สัปดาห์ แบ่งออกเป็น
- ลาก่อนคลอด (zwangerschapsverlof) 4-6 สัปดาห์ก่อนคลอด
- ลาคลอด (bevallingsverlof) 10-12 สัปดาห์ หลังคลอด
ตามกฎหมาย ต้องแจ้งลาคลอดล่วงหน้า ต่อนายจ้าง หรือกรณีเป็นเจ้าของธุรกิจ สามารถแจ้งโดยตรงต่อ UWV (กรมแรงงาน) อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดคลอด และต้องแนบเอกสารรับรองการตั้งครรภ์ ซึ่งมีระบุกำหนดวันคลอด โดยสามารถขอเอกสารนี้ได้จากคลินิกผดุงครรภ์ที่รับฝากครรภ์
เราสามารถเลือกสถานที่คลอดได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือ ที่โรงพยาบาล หรือ ศูนย์ทำคลอด โดยที่ผดุงครรภ์จะเป็นผู้ทำคลอด และถ้าเป็นไปได้ ผดุงครรภ์จะพยายามทำคลอดแบบวิธีธรรมชาติ การใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวด การใช้ฮอร์โมนช่วยเร่งคลอด การผ่าคลอด นั้นต้องอยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ ดังนั้นควรทำแผนการคลอด (geboorte plan ) ไว้ให้ครอบคลุมความต้องการของเราอย่างชัดเจนว่า ต้องการ หรือ ไม่ต้องการอะไร ปรึกษากับคลินิกผดุงครรภ์หรือลงทะเบียนเข้าร่วมฟังงานให้ข้อมูลการคลอดได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คนดัตช์มักจะแยกห้องนอนกับลูก ดังนั้นจึงควรจัดเตรียมห้องเด็กเล็กและของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กอ่อนให้พร้อมไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการคลอดที่บ้าน ควรจัดหา Kraampakket ที่บรรจุของจำเป็นที่ต้องใช้ในเวลาทำคลอด และหลังคลอด เช่นผ้ารองกันที่นอนเปื้อนเลือด ผ้าอนามัยใส่หลังคลอด แอลกอฮอล์สำหรับเช็ดแผล ที่วัดอุณหภูมิแบบเสียบก้นสำหรับเด็ก สำหรับแม่ เป็นต้น หากการทำคลอดไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ผดุงครรภ์จะตัดสินใจโอนถ่ายให้ ทีมแพทย์มาดูแลทำคลอดแทน ถ้าเลือกคลอดที่บ้าน หรือคลอดนอกโรงพยาบาล ก็จะต้องเรียกรถพยาบาลนำส่งตัวโรงพยาบาลต่อไป แต่หากเลือกคลอดที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว ทีมแพทย์ที่เข้าเวรก็จะเข้ารับช่วงต่อได้เร็วขึ้น เมื่อคลอดแล้ว ทารกจะถูกนำมาวางบนอกของแม่ ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะตัดสายสะดือ และ หากแม่ต้องการให้นมลูกด้วยนมแม่ ผดุงครรภ์จะพยายามให้ทารกได้ดูดนมจากเต้าของแม่ทันที หากสุขภาพของแม่และลูกสมบูรณ์ดี หากคลอดที่โรงพยาบาล ทั้งแม่และลูกสามารถออกจากโรงพยาบาล หลังจากนั้น ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ไม่ต้องแปลกใจ ถูกต้องแล้ว 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ไม่ต้องกังวล คุณแม่หลังคลอดและทารกแรกเกิด จะได้รับการดูแลต่อที่บ้านด้วยระบบสาธารณสุขอย่างแน่นอน
สัปดาห์ของการดูแลแม่หลังคลอดและทารกแรกเกิด (Kraamweek)
ถือเป็นเอกลักษณ์ของการคลอดลูกในประเทศเนเธอร์แลนด์ คือหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด มีสิทธิ์ได้รับการดูแลหลังคลอดที่บ้านต่อ เป็นเวลา 8 วัน หรือ 1 สัปดาห์ หรือ ประมาณ 24-80 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและเงื่อนไขทางสุขภาพหลังคลอด โดยค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด จะครอบคลุมอยู่ในประกันสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งถือว่า เป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นในโลกในขณะนี้ (ปี 2563 (2020))
ในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ทางผดุงครรภ์จะแจ้งว่า ควรจะเริ่มลงทะเบียนกับผู้ให้บริการดูแลหลังคลอด ที่ภาษาดัตช์ เรียกว่า Kraamzorg ซึ่งทางผดุงครรภ์ สามารถให้รายชื่อผู้ให้บริการ หลายๆราย ที่ทำงานร่วมกับทางคลินิก ไว้เป็นทางเลือก ได้ โดยทาง Kraamzorg จะทำการนัดหมายมาคุยที่บ้านก่อน เพื่อตกลงความต้องการ และดูสถานที่ ว่าต้องมีอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติม หรือไม่ เช่นหากต้องการคลอดที่บ้าน จะคลอดที่ไหน คลอดในน้ำ ก็ต้องมีสระน้ำเฉพาะ ไม่ใช่อ่างอาบน้ำปกติ เตียงนอนจะต้องมีความสูงที่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยหลังคลอด ไม่ให้ต้องก้มตัวมากๆ แล้วจะส่งผลต่อหลัง เป็นต้น
หลังจากคลอดแล้ว เราสามารถโทรแจ้ง kraamzorg ที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ ได้ว่า จะให้มาเริ่มปฏิบัติงานได้กี่โมง ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์หลังคลอด ที่เรียกว่า Kraamweek จะมี kraamverzorgende หรือ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหลังคลอด มาอยู่ช่วยดูแลสุขอนามัยของคุณแม่หลังคลอดและทารกแรกเกิด โดยในแต่ละวันจะมีกิจกรรม ดังนี้
- สอนวิธีดูแลทารกแรกเกิดให้กับคุณพ่อและคุณแม่
- ตรวจทางกายภาพของคุณแม่หลังคลอด คือ วัดอุณภูมิร่างกาย และตรวจรอยแผลเย็บ (ถ้ามี) ทุกๆวัน
- ตรวจทางกายภาพของทารกแรกเกิด คือ วัดอุณภูมิร่างกาย,ชั่งน้ำหนัก, ดูสีผิว, การดูดนม, การขับถ่าย และการปัสสาวะ ทุกๆวัน
- หากพบสิ่งปกติในแม่หลังคลอด หรือ ทารกแรกเกิด จะรายงานให้ผดุงครรภ์ทราบโดยทันที
- ดูแลช่วยเหลืองานบ้านที่เกี่ยวกับสุขอนามัยของแม่และทารก อย่างการซักผ้า, เปลี่ยนผ้าปูที่นอน, ทำความสะอาดห้องเด็กอ่อนและทำความสะอาดห้องน้ำ หากคุณมีลูกอยู่แล้ว เขาก็จะช่วยเลี้ยงลูกให้ด้วย
- ช่วยเหลือให้คุณแม่ สามารถให้นมแม่ ให้ได้เร็วที่สุด
เมื่อจบสัปดาห์หลังคลอด การดูแลสุขภาพของเด็ก ยังคงมีหน่วยงานของระบบสาธารณสุขมาดูแลโดยตรง
ภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันทำการ หลังคลอด จะต้องแจ้งเกิดลูก ต่อเทศบาลเมือง Gemeente ที่เกิด กล่าวคือ หากไปคลอดที่โรงพยาบาลต่างเมืองที่ไม่ได้เป็นที่อาศัย ก็ต้องตามไปแจ้งเกิดในเทศบาลที่โรงพยาบาลตั้งอยู่และไม่มีค่าใช้จ่าย
การแจ้งเกิดต้องไปดำเนินการโดยพ่อหรือแม่ของเด็ก และมีเอกสารที่ใช้ ในการแจ้งเกิดดังนี้
- หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวของพ่อและแม่
- ใบรายละเอียดการเกิด ที่ได้มาจากผดุงครรภ์ หรือ โรงพยาบาล
- ใบทะเบียนสมรส (ถ้าแต่งงานแล้ว)
หลังจากแจ้งเกิด เจ้าหน้าที่ของเทศบาลจะทำการลงทะเบียนออนไลน์ เป็นหลักฐานการเกิดตามกฎหมาย และเด็กจะได้หมายเลข BSN และมีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์ทันที หลังจากนี้ข้อมูลจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ รวมถึงสาธารณสุขเด็กด้วย และหลังนั้นจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเด็กมาทำการตรวจหู ตรวจตา และเจาะเลือดที่ฝ่าเท้าของทารกไปตรวจ ถึงที่บ้าน ภายใน 1 สัปดาห์แรกหลังคลอด เช่นเดียวกัน
ทุกคนที่มีประกันสุขภาพพื้นฐานของเนเธอร์แลนด์ จะได้รับการดูแลด้านสาธารณสุข เท่าเทียมกัน แม้จะถือวีซ่าทำงาน เป็น expat ก็ตาม เพราะการเกิดในเนเธอร์แลนด์ ไม่ได้ทำให้ลูกของคุณได้สัญชาติดัตช์โดยอัตโนมัติ ดังนั้นคุณต้องยื่นต่อ IND ขอบัตรผู้พำนักให้กับลูก เพื่อให้ลูกสามารถอาศัยกับคุณได้ที่นี่อย่างถูกต้อง ดูขั้นตอนและรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเวบไซด์ IND ได้โดยตรง
Useful links
- https://deverloskundige.nl/zoek-een-verloskundige ค้นหาคลินิกผดุงครรภ์ใกล้บ้าน.
- https://allesoverzwanger.nl ให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดในเนเธอร์แลนด์จากหน่วยงานสาธารณสุข
- https://www.rijksoverheid.nl/onderwerpen/zwangerschap-en-geboorte เวปไซต์ของรัฐบาลที่ให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอด รวมไปถึงสิทธิที่พึงมีตามกฏหมายต่างๆ
ข้อมูลการขอบัตรผู้พำนักให้กับเด็กที่เกิดในเนเธอร์แลนด์แต่พ่อแม่ไม่ได้ถือสัญชาติดัตช์ทั้งคู่