วัฒนธรรมดัตช์

 How we look upon and judge the lifestyle and workplace of other cultures depends on how we view the world from our own cultural background.”  (Eleonor Breuke)

คนเรามักจะตัดสินความแตกต่างของวัฒนธรรมอื่น  จากพื้นฐานวัฒนธรรมที่ตัวเองเติบโตมา ดังนั้นการย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างทางวัฒนธรรม

1. ปัจเจกนิยม (Individualism)

ชาวดัตช์ถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆให้รู้จักแสดงความคิดเห็น ถูกฝึกสอนเรื่องความเท่าเทียมกัน คนดัตช์รักความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นจะเป็นการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา ซึ่งคนต่างชาติอาจจะมองว่าไม่เหมาะสมกับกาละเทศะ แต่คนดัตช์เคยชินกับการสื่อสารที่ออกมาจากใจจริงและชอบการมีส่วนร่วม ดังนั้นการสื่อสารกับคนดัตช์โดยที่เข้าใจถึงพื้นฐานของวัฒนธรรมจะทำให้เราเข้าใจคู่สนทนาได้ดีขึ้น 

เด็กดัตช์จะถูกเลี้ยงให้ช่วยตัวเองให้ได้เร็วที่สุด หัดผูกเชือกรองเท้า หัดจักรยาน ไปโรงเรียนเองตั้งแต่อายุน้อย  อาหารที่ต้องกินตามเวลาที่กำหนด เข้านอนเป็นเวลา ฯลฯ   เรื่องต่างๆเหล่านี้จะทำให้เด็กดัตช์เรียนรู้และเติบโตมีความคิดเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว ดังนั้น คนแก่ดัตช์จะไม่รู้สึกแปลกที่หลานจะสอน  หรือคัดค้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย  ครูจะยอมรับฟังถ้าให้เหตผลที่นักเรียนทั้งห้องไม่ยอมรับ

 เจ้านายจะต้องชงกาแฟ ล้างแก้ว หรือถ่ายเอกสารเองในที่ทำงาน  เพราะแม่บ้านมีหน้าที่ทำความสะอาด ไม่ใช่ชงกาแฟดังนั้นการแบ่งงานในบ้าน ระหว่างคุณกับคู่ครอง ไม่ใช่เรื่องแปลก คนที่อยู่บ้านทั้งวันก็ไม่ได้แปลว่าต้องทำงานบ้านทุกอย่าง คนเดียว (งานบ้านนี่หนักทีเดียว ยิ่งถ้ามีลูกอีก เป็นงานที่ไม่มีเวลาพักเลย)  ถ้าตกลงได้ ควรแบ่งงานที่รับผิดชอบในบ้านระหว่างคนสองคน  อีกคนก็จะมีเวลาพักผ่อนสร้างเวลาส่วนตัวบ้าง ชีวิตคู่ก็จะแข็งแรงและไม่รู้สึกว่าใครเอาเปรียบใครจนเกินไป

คนดัตช์มักจะพูดตรงมาก ถึงมากที่สุด ดังนั้นถ้าคิดจะเปิดโอกาสถาม คนดัตช์ให้วิจารณ์อะไร ก็ให้เตรียมใจไว้ด้วยว่าจะได้ฟังอะไร ที่ตรงใจคนพูด แต่ช่างไม่ถนอมน้ำใจคนฟังเลย เช่น คู่ครองของเราเขาอาจจะวิจารณ์ พฤติกรรมการกิน การแต่งตัว การทำอาหาร  การดูแลความสะอาดของเราแบบ ไม่เว้นวรรคจนดูเหมือนเรากำลังถูกตำหนิติเตียน  แต่ถ้าในบางสิ่งเช่น อาหารที่เราเคยรับประทานครึ่งดิบ ครึ่งสุก มีกลิ่นหอมหวล  และเมื่อเราจะต้องอยู่ด้วยกัน เราก็ต้องแสดงความคิดเห็นของเราที่ตรงออกไป เพื่อให้คนที่อยู่ด้วยได้รับรู้ว่านี่คืออาหารของฉัน  นี่คือการแต่งตัวของฉัน ในบางส่วนการปรับตัวต้องทำจากทั้งสองฝ่าย  เพื่อให้เกิดความปรองดอง   เรื่องการพูดตรงกับใจจะรวมไปถึงความรู้สึก เพราะคนดัตช์มักจะพูดออกอย่างที่ใจคิด จึงไม่เข้าใจเมื่อ คู่ครองมีความรู้สึกงอน  หรือแอบร้องไห้เพราะน้อยใจ

เนื่องด้วยชาวดัตช์ถูกสอนมาบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ดังนั้นคนดัตช์จะไม่แสดงความชื่นชมการมีลำดับชั้นในสังคม เพราะเค้าถือว่าเราทุกคนมีหน้าที่ เจ้านายก็มีหน้าที่ และลูกน้องก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ดังนั้นทุกคนมีความสำคัญเหมือนกัน พื้นฐานของสังคมก็แสดงถึงความเท่าเทียมกันนี้ด้วยเช่นกัน เช่นเด็กๆมักจะเรียนโรงเรียนใกล้ๆบ้าน เพราะมาตรฐานของโรงเรียนนั้นเท่าเทียมกัน การรักษาพยาบาลก็ตามระบบและขั้นตอน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษเหนือใคร เป็นต้น

ตามการวิจัยพบว่า สังคมชาวดัตช์เป็นสังคมแบบปัจเจกนิยม (Individualist society) หมายความถึง ผู้คนคาดหวังที่จะดูแลตัวเองและครอบครัวที่ใกล้ชิดของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแบบครอบครัว หัวหน้าครอบครัวคนไทยส่วนมาก รับภาระในการดูแลทั้งครอบครัว และบ่อยครั้งรวมไปถึงญาติสนิทที่อาจจะไม่ใช่แค่พ่อแม่หรือลูกหลาน ชาวไทยที่มาพักนักอาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์อาจจะมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวที่ประเทศไทย เช่น การส่งเงินรายเดือน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความรับผิดชอบนี้ ควรมีการสื่อสารและทำความเข้าใจกันกับคู่ครองที่เป็นคนดัตช์

เนื่องด้วยสังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างยึดติดกับความคิดของคนส่วนมาก (in-group) คนไทยจะไม่นิยมการสื่อสารแบบเผชิญหน้า และบางครั้งการตอบรับว่าได้หรือใช่ อาจจะไม่ได้หมายความเช่นนั้นเสมอไป ความผิดจะนำไปสู่การเสียหน้าและคนไทยมีความอ่อนไหวมากที่จะไม่รู้สึกละอายต่อหน้ากลุ่มของพวกเขา ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันถ้าคนดัตช์ทำความผิดพลาด คนผู้นั้นจะรู้สึกผิดและสูญเสียความนับถือตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้นเป็นสัญญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความได้เปรียบร่วมกัน การตัดสินใจจ้างงานและการเลื่อนตำแหน่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมเท่านั้น

คนดัตช์จะใช้ชีวิตทำสิ่งที่ตนชื่นชอบ จะรักษาความสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างดี เจ้านายที่ดีจะสนับสนุน ผู้ใต้บังคับบัญชา  และในการตัดสินใจต่างๆมักจะให้ลูกน้องมีส่วนร่วม ความเสมอภาค ความเป็นปึกแผ่นและคุณภาพของงานเป็นสิ่งสำคัญ คุณอาจจะพบว่าเพื่อนร่วมงานอาจะไม่ใช่เพื่อน เพราะเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ทุกคนก็จะกลับบ้านหรือไปทำกิจกรรมของตนเอง อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในเรื่องของการพักผ่อนคือ คนดัตช์ชอบการท่องเที่ยว ถ้าคุณทำงานประจำ คุณจะได้รับเงินท่องเที่ยวจากบริษัทรายปี คิดเป็น 8%ของรายได้รายปี คนดัตช์ถือว่าการท่องเที่ยวคือการพักผ่อนเพื่อละสมองจากงานที่ทำและเป็นการเติมพลังชีวิต

การแก้ปัญหาความขัดแย้งกันของคนดัตช์จะใช้วิธีประนีประนอมและเจรจาต่อรอง ชาวดัตช์เป็นที่รู้จักสำหรับการอภิปรายที่ยาวนาน และเจรจาต่อรองจนทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ การใช้ชีวิตคู่หรือทำงานกับคนดัตช์ก็เช่นกัน การอภิปรายโดยใช้เหตุและผลจึงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ การนิ่งเงียบหรือปล่อยผ่านอาจจะเป็นการสะสมความคับข้องหมองใจ โดยที่อีกฝ่ายจะไม่สามารถรับรู้ได้เลย 

 

คนดัตช์มีการวางแผนชีวิตที่ดี เพราะคนดัตช์ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ให้อยู่ กิน นอน เป็นเวลา โรงเรียนก็จะสอนหลักๆเรื่องการจัดแบบแผน  เด็กๆจะถูกฝึกการใช้ตารางชีวิตทีละนิด จนเมื่อเริ่มเขียนหนังสือได้ก็จะต้องหัดทำตารางการเรียนของตัวเอง การนัดหมายทั้งเรื่องนอกบ้าน และในบ้านของคนดัตช์จึงสำคัญมาก คู่รักหลายคู่ที่เพิ่งมาอยู่ด้วยกันใหม่ๆอาจจะไม่คุ้นเคย ถ้าคู่ของเราหงุดหงิด เมื่อเราชวนเขาไปบ้านเพื่อน แบบไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าหรือไม่มีการนัดเวลาที่แน่นอน  อาทิ ไปสัก สิบโมงถึงเที่ยง ไปนั่งทานอาหารและคุยกัน  เพราะคนดัตช์จะไม่มีนัดแบบนี้นอกจากเป็นงานเลี้ยง  หรือไป บาร์บีคิว วันหยุด  แต่คนไทยเรานัดสังสรรค์กันเสมอ

 เรื่องนัดในบ้านเช่น วัน เวลาไปจ่ายตลาด ทำความสะอาดบ้าน หรือทำงานบ้านต่างๆก็สำคัญ  เช่น ถ้าคู่ของเราตกลงว่า วันเสาร์สิบโมงจะเป็นวันจ่ายตลาด   นั่นหมายถึง ทุกวันเสาร์ สิบโมง จะเป็นวันจ่ายตลาดของคุณสองคน  หากเขามีนัดอื่นแน่นอนเขาจะแจ้งให้คุณรับรู้ก่อน  แต่ถ้าคุณเกิดไปรับนัดใคร แล้วไม่ได้บอกเขาล่วงหน้า  เรื่องที่ดูเล็กๆแบบนี้อาจก่อให้เกิดความเบาะแว้งได้ทันที 

การวางแผนชีวิตทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อมีเรื่องเงิน

หรือข้อตกลงเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เวลาจ่ายเงินค่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสังเกต เห็นจากคู่รักไทย-ดัตช์หลายคู่ว่า คู่ครองชาวดัตช์มักจะเป็นผู้ดูแลจัดการในส่วนนี้  ซึ่งสำหรับการปรับตัวเข้าหากัน ขอแนะนำให้เราเริ่มเรียนรู้การจัดการชีวิตให้เป็นระบบขึ้น (ถ้ามีอยู่แล้วก็เป็นสิ่งที่ดีมาก) เพราะนิสัยคนไทยมักจะ สบายๆ วันนี้ทำไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าไม่คอขาดบาดตาย แต่สำหรับคนดัตช์เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ

เรื่องการจัดการวางแผนจัดระเบียบนี้รวมไปถึงการจัดการด้านการเงินด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก บางคนอาจจะคิดว่าคนดัตช์ขี้เหนียวเพราะมีความละเอียดละออเรื่องการใช้จ่ายต่างๆ เพราะคนดัตช์ไม่ชอบเป็นหนี้ ดังนั้นเขาจะต้องจัดแบ่งกองเงินที่เข้ามาเพื่อจะดูว่าในแต่ละเดือนจะต้องจ่ายอะไรออกไป หลายคู่ที่มาอยู่จะมีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายในครอบครัว จึงควรมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยแต่แรกเริ่ม  เพราะเมื่อจะสร้างครอบครัวด้วยกันการเข้าใจกันในเรื่องการใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องที่จะทำให้ลดข้อขัดแย้ง หรือ ปิดความไม่เข้าใจระหว่างกันเสีย จริงๆแล้วคนดัตช์เป็นชาติที่ให้เงินบริจาคช่วยเหลือองค์การการกุศลมากที่สุดในหมู่ชาวยุโรป เนื่องจากเค้ามีการบริหารจัดการเงินที่ดี

สังคมดัตช์ก็รักษาความเชื่อมโยงระหว่างอดีตของตนและความท้าทายในอนาคตได้อย่างดี การเปลี่ยนแปลงในสังคมดัตช์จึงไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมประเพณีนัก แต่ดูที่ความเหมาะสมในช่วงเวลาและสถานการณ์นั้นๆ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนประเพณีให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างง่ายดาย เช่นการยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน การเปิดตลาดยาเสพติด เป็นต้น มันอาจจะเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกัน แต่สุดท้ายผู้คนก็ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงนั้นๆและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

การเข้าสังคม เป็นความท้าทายหนึ่งที่มนุษย์ได้รับการขัดเกลาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตที่ผู้คนพยายามควบคุมความต้องการและแรงกระตุ้นของพวกเขา มักจะขึ้นอยู่กับวิธีที่พวกเขาได้รับการเลี้ยงดู การควบคุมที่ค่อนข้างอ่อนแอเรียกว่า “การปล่อยตัว” และการควบคุมที่ค่อนข้างแรงเรียกว่า “การควบคุม” ดังนั้นวัฒนธรรมจึงสามารถอธิบายได้ว่าเป็นการผ่อนปรนหรือถูกจำกัด แน่นอนสำหรับคนดัตช์ที่ถูกเลี้ยงดูให้แสดงความคิดเห็นของตนเองได้ตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาจึงเป็นสังคมแบบปล่อยตัวตามความเต็มใจที่จะใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ใช้ชีวิตให้เพลิดเพลินและสนุกสนาน คนดัตช์จึงให้ความสำคัญในการมีเวลาสำหรับตัวเอง มีงานอดิเรก และใช้จ่ายเงินตามที่พวกเขาต้องการ เพราะเขามีการจัดการกับการเงินของตนเองที่ดีแล้ว

BE OUR SPONSORS ?

สนใจเป็นผู้สนับสนุน กับไทสมม ติดต่อ thaisestichting(@)gmail.com