การจดทะเบียนสมรสกับคนเนเธอร์แลนด์

สวัสดีครับ วันนี้จะมาอธิบายถึงขั้นตอนและเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ ครับ

กรณีที่ 1 

การจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ ใน เนเธอร์แลนด์ กรณีที่มาอยู่ที่นี่ด้วย MVV visa หรือมี residence permit ที่นี่แล้ว มีเงื่อนไขคือ

 

– ทั้งคู่จะต้องอายุมากกว่า 18 ปี

– ทั้งคู่จะต้องไม่ได้จดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ กับใครคนอื่น เรียกง่ายๆว่า เพื่อป้องกันกาจดทะเบียนซ้อน

– ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด

– คนใดคนหนึ่งในคู่ของคุณจะต้องเป็นคนดัชท์ หรือ คนที่อาศัยอยู่ใน เนเธอร์แลนด์

สิ่งที่จะต้องทำ 3 อย่างคือ

  1. ประกาศความตั้งใจในการแต่งงาน (บาง Gemeente สามารถทำ online ได้ หรือสามารถนัด Gemeente เข้าไปยื่นเรื่องพร้อมกับเลือกวันเวลา และ สถานที่)
  2. เลือกวัน เวลา สถานที่
  3. แจ้งบันทึกพยาน (หากวันที่ไปยื่นนัด Gemeente ไม่ได้เตรียมเอกสารของพยานไป สามารถส่งตามหลังได้)

เอกสารที่ต้องใช้คือ

สำหรับฝ่ายคนดัตช์ / หรือ EU Citizen: 

 – ID card หรือ passport

สำหรับฝ่ายไทย:

– Passport

– บัตร Residence permit

– ใบเกิดที่แปลและผ่านการรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต*

– ใบรับรองโสดที่แปลและผ่านการรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต*

เอกสารเพิ่มเติมคือ

– สำเนา passport, ID card ของพยานอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 4 คน

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์

  • ติดต่อ Gemeente ที่อาศัยอยู่ หรือ Gemeente ที่ใดก็ได้แล้วแต่สะดวก โดยต้องยื่นความประสงค์ขอจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ขึ้นไป ก่อนถึงวันที่ตั้งใจจะจัดงาน เนื่องจาก IND จะต้องตรวจสอบสถานะการอยู่อาศัย และ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ต้องตรวจสอบการแต่งงานว่าเกิดจากความสัมพันธ์ของคน 2 คนจริง ๆ
  • ยื่นเอกสารให้กับทาง Gemeente เพื่อทำการตรวจสอบ และชำระเงินค่าดำเนินการ**
  • หากทุกอย่างเรียบร้อย ทาง Gemeente จะแจ้งให้ทราบและ ก่อนถึงพิธีการจัดงาน จะมีเจ้าหน้าที่ Ambtenaar จาก Gemeente ติดต่อกลับมาเพื่อซักซ้อม วางแผนงาน คำกล่าวสุนทรพจน์ ต่าง ๆ
  • ในพิธีสมรสนั้น คู่สมรสจะต้องกล่าวคำ Ja woord ในพิธี ต่อหน้า Ambtenaar และ คู่สมรส พร้อมทั้ง พยาน เซ็นต์เอกสารในการจดทะเบียนสมรส***

* โดยปรกติแล้วนั้นสำหรับคนที่มาอยู่ที่นี่กับแฟนด้วย MVV visa หรือวีซ่าติดตามคู่สมรสชาว EU ตอนที่เราได้เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้าน Inschrijven BRP นั้น เราได้นำใบเกิด และ ใบรับรองโสด ให้เจ้าหน้าที่ Gemeente ไปแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะ scan เอกสารของเราและเอาเข้าระบบส่วนกลาง ในกรณีปรกตินั้น ทางเจ้าหน้าที่อาจจะขอเอกสารฉบับเดิมตอนไปยื่นเรื่องขอจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ หรือ บางที่อาจจะดูแค่ข้อมูลในระบบเพียงอย่างเดียว แต่บาง Gemeente นั้นก็มักจะมีปัญหากับเอกสารเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างในกรณีของเบียร์เอง

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตัวเบียร์นั้นย้ายมาอยู่ในเนเธอร์แลนด์ตอน มีนาคม 2016 และ มีแผนที่จะจดทะเบียนสมรสกับแฟนในเดือน มิถุนายน 2018  

ปลายปี 2017 นั้นทางเบียร์ได้กลับไปเมืองไทย ก่อนกลับนั้นได้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ Gemeente ที่อาศัยอยู่และสอบถามว่า มีแผนที่จะจดทะเบียนสมรสปีหน้า ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าใช้ใบรับรองโสด เบียร์แจ้งว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ไปแล้วตั้งแต่ตอนเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้าน ซึ่ง ณ ตอนนี้ใบรับรองโสดที่มีอยู่นั้นหมดอายุมาเกือบ 2 ปี แล้วจะต้องทำใหม่หรือไม่ เพราะถ้าจะต้องทำใหม่จะได้ทำตอนที่กลับไปเมืองไทย เจ้าหน้าที่ Gemeente แจ้งว่า ไม่ต้องทำใหม่สามารถใช้ใบที่มีอยู่ได้เลย

เดือนมกราคม 2018 ทางเบียร์ได้ไปติดต่อเพื่อแจ้ง Gemeente ขอทำเรื่องจดทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ใบรับรองโสดหมดอายุแล้วให้ไปเอามาใหม่ ซึ่งทางเบียร์ก็ได้แย้งไปว่า แต่เราได้มาถามแล้ว เจ้าหน้าที่บอกของเดิมใช้ได้ ไม่มีปัญหา เจ้าหน้าที่ Gemeente ก็ไม่ยอม และแจ้งว่ายังไงก็ต้องกลับไปเอามาใหม่ ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะไม่รับจดทะเบียนให้ เพราะระหว่างที่ใบรับรองโสดหมดอายุมา 2 ปีนั้น ทางเบียร์อาจจะแอบกลับไปไทยและไปจดทะเบียนสมรสกับใครก็ได้ ทางแฟนเบียร์และเบียร์ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า จะดู passport มั้ยว่าไป-กลับ ด้วยกันตลอด แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ยอม เลยโทรขอคำปรึกษากับ IND ทาง IND ก็แจ้งว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากทาง IND ไม่มีอำนาจไปสั่งการ Gemeente

หลังจากนั้น เบียร์ และ แฟน เลยได้ทำการนัดกับ Gemeente ข้างเคียงเพื่อลองเสี่ยงยื่นขอจดทะเบียนดู วันนั้นก็ได้นำเอกสารใบรับรองโสด และ ใบเกิดที่หมดอายุแล้ว นำติดตัวไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่ที่ Gemeente นั้นไม่ได้ขอดู เพียงแค่เช็คข้อมูลในระบบและแจ้งว่าสามารถจดทะเบียนสมรสได้

หากมีใครเกิดปัญหาเช่นนี้ แนะนำลองให้เปลี่ยน Gemeente ยื่นเรื่องครับ 

** ในทุก ๆ Gemeente จะมีวันจดทะเบียนฟรีอยู่หนึ่งวัน แต่จะต้องจองคิวล่วงหน้า หากเป็น Gemeente ใหญ่ ๆ อาจจะต้องจองคิวล่วงหน้าข้ามปี เพื่อจะใช้บริการวันที่ Gemeente ให้บริการฟรี และในส่วนของการบริการในวันที่จดฟรีนั้น จะมีแค่พิธีการเพียงอย่างเดียว ใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น จะไม่มีการกล่าวสุนทรพจน์ ใด ๆ 

*** ในกรณีที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ จะไม่มีพิธีการนี้

กรณีที่ 2

การจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ ใน เนเธอร์แลนด์ กรณีที่เดินทางมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว/เยี่ยมเยือน มีเงื่อนไข คือ

  • ทั้งคู่จะต้องอายุมากกว่า 18 ปี
  • ทั้งคู่จะต้องไม่ได้จดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ กับใครคนอื่น เรียกง่ายๆว่า เพื่อป้องกันกาจดทะเบียนซ้อน
  • ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด
  • คนใดคนหนึ่งในคู่ของคุณจะต้องเป็นคนดัชท์ หรือ คนที่อาศัยอยู่ใน เนเธอร์แลนด์

สิ่งที่จะต้องทำ 5 อย่างคือ

  1. ประกาศความตั้งใจในการแต่งงาน (บาง Gemeente สามารถทำ online ได้ หรือสามารถนัด Gemeente เข้าไปยื่นเรื่องพร้อมกับเลือกวันเวลา และ สถานที่)
  2. เลือกวัน เวลา สถานที่
  3. แจ้งบันทึกพยาน (หากวันที่ไปยื่นนัด Gemeente ไม่ได้เตรียมเอกสารของพยานไป สามารถส่งตามหลังได้)
  4. กรณีที่เดินทางมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว/เยี่ยมเยือน จะต้องกรอกแบบฟอร์ม Declaration of No Scam Marriage ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการแต่งงานเพื่อที่จะขอ Residence permit ซึ่งจะต้องเซ็นต์กันทั้ง 2 ฝ่าย
  5. กรณีที่ฝ่ายที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์จะยื่นเรื่องล่วงหน้า เพื่อที่จะได้มีเวลาทันการณ์สำหรับวีซ่าท่องเที่ยว/เยี่ยมเยือน ที่ใช้เดินทางเข้ามา จะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมจากอีกฝ่ายที่ไม่ได้มา Gemeente ด้วย คือ แบบฟอร์มและลายเซ็นยืนยันว่าจะแต่งงานกัน รวมถึงสำเนา passport ด้วย

เอกสารที่ต้องใช้คือ 

สำหรับฝ่ายคนดัชท์ / หรือ EU Citizen: 

 – ID card หรือ passport

สำหรับฝ่ายไทย:

– Passport

– ใบเกิดที่แปลและผ่านการรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต

– ใบรับรองโสดที่แปลและผ่านการรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต

เอกสารเพิ่มเติมคือ

– สำเนา passport, ID card ของพยานอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 4 คน

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์  : มีขั้นตอนเหมือนกับกรณี ที่ 1

กรณีที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์นั้น ไม่สามารถนำทะเบียนพาร์ทเนอร์ กลับไปเปลี่ยนสถานะที่เมืองไทยได้ เนื่องจากว่า ที่เมืองไทยไม่มีการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ จึงไม่มีกฎหมายรองรับในตรงนี้

รณีที่จดทะเบียนสมรส แล้วต้องการนำทะเบียนสมรสกลับไปเปลี่ยนสถานะที่เมืองไทยนั้น สามารถทำได้โดย ให้นำหลักฐานการจดทะเบียนสมรส (สามารถขอ International marriage certificate ได้จาก Gemeente) ไปที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย รับรองเอกสาร จากนั้น นำเอกสารที่ได้จากสถานทูตไปทำ

การแปลเป็นภาษาไทยและนำไปรับรองเอกสารกับกรมการกงสุล จากนั้นนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นขอจดทะเบียนรับรองฐานะครอบครัวสมรสได้ที่สำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง

ในกรณีที่ต้องการจะเปลี่ยนนามสกุลมาใช้นามสกุลแฟนจะต้องได้รับการยินยอมจากแฟนก่อน โดยสามารถเขียนแบบฟอร์มขึ้นมาเอง จากนั้นนำไปรับรองลายเซ็นที่ Gemeente จากนั้นทำการแปลเป็นภาษาไทยโดยล่ามสาบานตน เมื่อแปลเอกสารเรียบร้อย ให้นำเอกสารไปรับรองที่ Rechtbank ที่ Den Haag จากนั้นนำไปรับรองต่อที่ The ministrie of buitenlandse zaken และ สถานทูตไทยใน เนเธอร์แลนด์ จากนั้นนำเอกสารพร้อมกับทะเบียนสมรสที่ผ่านการรับรองตามวิธีข้างบน ไปยื่นที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ เพื่อขอเปลี่ยนนามสกุล ทำบัตรประชาชน และ passport ใหม่  

กรณีที่ 3 การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย

เงื่อนไขคือ

– ทั้งคู่จะต้องอายุมากกว่า 18 ปี

– ทั้งคู่จะต้องไม่ได้จดทะเบียนสมรส/พาร์ทเนอร์ กับใครคนอื่น เรียกง่ายๆว่า เพื่อป้องกันกาจดทะเบียนซ้อน

– ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด

– คนใดคนหนึ่งในคู่ของคุณจะต้องเป็นคนไทย หรือ คนที่อาศัยอยู่ใน ประเทศไทย

เอกสารที่ต้องใช้คือ

สำหรับฝ่ายคนดัตช์ 

1. ID card หรือ passport

2. เอกสารความสามารถในการสมรส certificate of legal capacity to marry in Thailand โดยที่ต้องไปขอที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย โดยใช้เอกสารดังต่อไปนี้

2.1 ID card หรือ passport

2.2 Uittreksel uit het geboorteregister (ใบเกิด)*

2.3 Intermatinale uittreksel van burgerlijke ที่ห้ามมีอายุเกิน 1 ปี มีข้อมูลระบุ ชื่อ ที่อยู่ สถานถาพสมรส (จะต้องมีคำว่า ongehuwd)*

2.4 Een afschrift van een echtscheidingsakte ทะเบียนหย่า ถ้าเคยแต่งงานมาก่อน (จะต้องมีคำว่า gescheiden, widow/widower)*

2.5 เอกสารยืนยันสถานะทางการเงิน โหลดได้จาก https://www.nederlandwereldwijd.nl/documenten/publicaties/2017/04/06/getuigen-inkomen-formulier

2.6 เอกสารยืนยันประกาศขอแต่งงาน โหลดได้จาก https://www.nederlandwereldwijd.nl/documenten/publicaties/2017/04/06/aanvraagformulier-huwelijksvoornemen-thailand

2.7 ใบรับรองโสด ของฝ่ายหญิง แปลและรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต

2.8 ทะเบียนบ้าน ของฝ่ายหญิง แปลและรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต

2.9 ใบหย่า ของฝ่ายหญิง แปลและรับรองจากกรมการกงสุลและสถานทูต

3. สำเนา passport ของฝ่ายหญิง

3.1 ค่าธรรมเนียม 1300 บาท + ค่าธรรมเนียมรับรองลายเซ็นต์การขอเอกสารเกี่ยวยืนยันสถานะทางการเงินประมาณ 1300 บาท 

3.2 ค่าธรรมเนียมการรับรองสำเนาถูกต้องของ passport ประมาณ 1300 บาท**

ขั้นตอนการขอ เอกสารความสามารถในการสมรส certificate of legal capacity to marry in Thailand

หลังจากได้เอกสารจากสถานทูตมาแล้วให้ทำการแปลเป็นภาษาไทย และนำไปรับรองกับกรมการกงสุล จากนั้นก็สามารถไปที่สำนักเขต/ที่ว่าการอำเภอ เพื่อดำเนินเรื่องยื่นขอจดทะเบียนสมรสได้

หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ให้ทำการแปลทะเบียนสมรสเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นนำไปรับรองที่กรมการกงสุลและสถานทูตเนเธอร์แลนด์ และให้แฟนถือกลับมาเพื่อยื่นต่อ Gemeente ที่แฟนมีชื่ออาศัยอยู่ เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมายของทั้งสองประเทศ

* เอกสารที่ฝ่ายชายต้องขอมาจาก Gemeente ที่เนเธอร์แลนด์

** ในบางกรณีบางที่ว่าการอำเภอต้องการการรับรองสำเนา passport จากสถานทูต เพราะฉะนั้นสมควรทำเผื่อมาด้วยตั้งแต่ตอนขอเอกสารต่าง ๆ กับ สถานทูต