การเทียบวุฒิพยาบาลจากไทยในเนเธอแลนด์

ปัจจุบันการเทียบวุฒิพยาบาลที่ได้มาจากไทยสามารถทำได้ 2 วิธี

1.ยื่นด้วยตัวเองและเรียนภาษาเอง

2.สามารถสมัครผ่านเอเจนซี่ให้เอเจนซี่เป็นคนยื่นให้แต่ต้องใช้ทุนคืนตามเงื่อนไขของเอเจนซี่หลังจบขบวนการยื่นค่ะ

การยื่นด้วยตัวเองให้เริ่มจากเข้าไปศึกษาข้อมูลที่ https://www.bigregister.nl/buitenlands-diploma/procedures/verklaring-vakbekwaamheid

 

บทความนี้ค่อนข้างยาว สามารถกดเลือกอ่านได้เฉพาะหัวข้อที่สนใจ

1 ระดับภาษาดัตช์ที่ต้องการ

2 การจัดเตรียมเอกสารที่ต้องใช้

3.สอบวัดระดับภาษา AKV toets

4 การสอบ BI-toets

5 infographic สรุป

6 การเทียบวุฒิยื่น nuffic

7 คำแนะนำจากประสบการณ์จริง

ระดับภาษาดัตช์ที่ต้องการ

อันดับแรกคือต้องลงเรียน ไม่ว่าจะเรียนภาษากับสถาบันสอนภาษาหรือสามารถเรียนด้วยเองก็ตาม โดยระดับภาษาดัชต์ตอนนี้ทาง CIBG บังคับจะต้องอย่างน้อยระดับ B1 เป็นต้นไปค่ะ

การจัดเตรียมเอกสารที่ต้องใช้

ถ้าเลือกยื่นเองเราจะต้องดาวน์โหลดเอกสารแบบฟอร์มการขอยื่น พร้อมกับแนบวุฒิการศึกษา ทรานต์สคิป cv และอื่นๆ  สามารถดูรายละอียดเอกสารต่างๆได้ที่ลิ้งค์นี้ https://www.bigregister.nl/buitenlands-diploma/procedures/verklaring-vakbekwaamheid/toelichting-bewijstukken

รายชื่อเอกสารที่ต้องยื่นมีดังนี้

1. แบบฟอร์มคำร้องขอยื่นเทียบวุฒิที่กรอกเรียบร้อยแล้ว 

โดยกรอกตามประสบการ์ณที่เคยได้ทำงานมาในประเทศไทยอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล สามารถดาวโหลดฟอร์มได้ที่ 

1.1 https://www.bigregister.nl/buitenlands-diploma/documenten/formulieren/2017/03/03/aanvraagformulier-erkenning-beroepskwalificaties-en-verklaring-vakbekwaamheid 

1.2 https://www.bigregister.nl/buitenlands-diploma/documenten/formulieren/2017/03/03/bijlage-beroepscompetenties-verpleegkundigen

 

และนอกจากนั้น เราสามารถยื่นแบบฟอร์มคำร้องของ Verzorgende IG 3 (ผู้ช่วยพยาบาลระดับ 3) พร้อมกันไปได้เลยโดยใช้เอกสารเดียวกัน เมื่อเอกสารผ่านและระดับภาษาผ่าน เราสามารถทำงานได้ในระดับ 3 โดยไม่ต้องรอจนกว่าจะสอบ BI-toets เสร็จ

ดาวโหลดได้ที่ 

https://www.bigregister.nl/buitenlands-diploma/documenten/formulieren/2017/03/03/bijlage-beroepscompetenties-verzorgenden-ig

2. สำเนาใบรับรองจบการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัย(ภาษาอังกฤษ) โดยมีชื่อนามสกุล รูปภาพ คณะที่จบ ปีที่จบ และตราประทับของทางมหาวิทยาลัยด้วย

3. สำเนาทรานสคริปต์ที่ได้จากมหาวิทยาลัยและในทรานสคริปต์จะต้องระบุชั่วโมงการเรียนทฤษฎีและปฏิบัติทั้งหมดที่ได้ฝึกมา (ภาษาอังกฤษ) โดยเอกสารจะต้องมีชื่อนามสกุลของผู้ยื่นบนเอกสารด้วย

4. สำเนาคำอธิบายรายวิชาทั้งหมดที่เราได้เรียนตามหลักสูตรแต่ละหน่วยกิจ(ภาษาอังกฤษ)

*เอกสารนี้จะต้องทำการขอกับทางมหาวิทยาลัยหรือคณะพยาบาลโดยตรงเพราะจะเป็นคำอธิบายรายวิชาของแต่ละหลักสูตรที่ต่างกันในแต่ละปี โดยจะต้องมีชื่อนามสกุลของผู้ยื่นคำร้อง อยู่ในเอกสารนี้ด้วย*

5. สำเนาบัตรผู้อยู่อาศัย (บัตรสีชมพู) และสำเนาพาสปอร์ต

6. ใบประกอบวิชาชีพของประเทศไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว (เอกสารนี้สามารถขอได้ทางเว็บไซต์สภาการพยาบาลของประเทศไทย)

7. ใบประกาศนียบัตรที่เคยได้รับการอบรมต่างๆจากประเทศไทยหรือประเทศเนเธอแลนด์ที่เกี่ยวกับวิชาชีพพยาบาลที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว

8. CV และ Motivation letter ภาษาดัชต์

เอกสารทั้งหมดใช้ตัวสำเนาและต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือดัชต์ พร้อมทั้งต้องมีชื่อนามสกุลของผู้ยื่นคำร้องอย่างชัดเจน หละงจากนั้นจะต้องนำเอกสารแนบกับฉบับจริงไปประทับตรากับ notaris ทุกรายการ ถึงจะนำมายื่นใช้ได้

สอบวัดระดับภาษา AKV toets

หลังจากส่งเอกสารต่างๆไปที่ CIBG หรือ BIG regisger แล้วจะได้รับอีเมลตอบกลับว่่าต้องการเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่ หรือภ้าเอกสารเรียบร้อยครบถ้วน ก็จะได้รับอีเมลข้อมูลให้ไปสอบวัดระดับภาษาAKV toets เป็นลำดับต่อไป

โดยปัจจุบันตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไปจะเปลี่ยนแปลงเป็นไม่ต้องสอบวัดระดับภาษาอีกต่อไปแล้ว แต่ให้ใช้ใบผลDiplomaของภาษายื่นแทน ใช้ทั้งหมด 2 ภาษา 

  1. ภาษาดัชต์ระดับ B1 
  2. ภาษาอังกฤษระดับ A2 หรือสามารถใช้ผล IELTS, TOEFL หรือ Cambridge-certificaat ยื่นได้โดยคะแนนจะต้องถึงเกณท์ที่ระบุ  

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bigregister.nl/buitenlands-diploma/procedures/verklaring-vakbekwaamheid/toetsen

การสอบ BI-toets

เมื่อผ่านสอบวัดระดับภาษาแล้วจะได้รับจดหมายจากCIBGเกี่ยวกับการลงสอบ BI-toets ต่อไป 

โดยในจดหมายจะระบุวิธีการสมัคร แนวทางการเตรียมตัวสอบ และยังมี informatiebijeenkomst (การจัดอบรมเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบและตอบคำถามที่สงสัยของผู้สมัคร) 

สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่  https://www.herregistratiewetbig.nl/informatiebijeenkomst 

การสอบ BI-toets คือสอบวัดระดับเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพพยาบาล แบ่งเป็น 3 ส่วน 

1.ข้อเขียนเกี่ยวกับโรคต่างๆ ทฤษฎีพยาบาล 

2.ข้อปฎิบัติ จะมีผู้คุมสอบเลือกหัตถการให้และคำนวณยา 

3.สอบตอบคำถามพยาธิสภาพของโรค

โดยทั้ง3อย่างนี้จะสอบภายในวันเดียวกันทั้งหมดและมีโอกาสเพียงรอบเดียวเท่านั้นที่จะต้องได้3ผ่าน 

ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ผ่านถือว่าไม่ผ่าน จะต้องพิจารณาฝึกงานเป็นรายคนไป

 

ทั้งนี้นั้นระดับพยาบาลที่จบมาจากไทยจะเทียบเท่าที่เนเธอร์แลนด์คือ MBO 4 verpleegkundige

แต่ถ้ายื่นเอกสารผ่านเอเจนซี่เขาจะจัดการเรื่องเอกสารต่างๆรวมถึงตอนยื่นทั้งหมด รวมถึงให้คอร์สสอนภาษาดัชต์ หาที่ฝึกงานให้หลังจบ แต่เอเจนซี่จะช่วยถึงแค่และดับ MBO 3 verzorgende IG (ผู้ช่วยพยาบาลระดับ3)เท่านั้น และใช้ทุนหลังเสร็จคอร์ส

จากนั้นเราต้องไปสมัครยื่นสอบเอกสาร Verpleegkunde ระดับ4เอาเองให้เทียบเท่ากับไทย

infographic สรุป

เพื่อให้เห็นภาพเป็นขั้นตอนง่ายๆ  ภาพนี้ จะสรุป 4 ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนวิชาชีพพยาบาลจากไทยในเนเธอแลนด์

การเทียบวุฒิยื่น nuffic

การเทียบวุฒิยื่น nuffic สามารถทำได้เลยแต่ใบนั้นที่เทียบมาจะมีระบุว่า ไม่สามารถทำงานตำแหน่งพยาบาลได้ถ้าไม่มี big register number ของที่นี่ 

ใบเทียบวุฒิจะระบุออกมาเพียงว่าเราเรียนจบระดับปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์จากไทยแค่นั้น

แต่ใบนี้ถ้าภาษาดัชต์แข็งแรงสามารถเอาไปยื่นสมัครงานในตำแหน่ง helpende ผู้ช่วยพยาบาลระดับ 2 ได้เลย ทั้งนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของผู้ว่าจ้าง

คำแนะนำจากประสบการณ์จริง

คำแนะนำจากประสบการณ์จริงการสอบด้วยตนเองเมื่อปี 2022ที่ผ่านมา

แนะนำว่าอันดับแรกเมื่อมาถึง ถ้าสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้แข็งแรงและเป็นคนเรียนรู้ภาษาได้ง่ายแนะนำให้ยื่นด้วยตัวเอง โดยให้แฟนหรือสามีช่วยกรอกแบบฟอร์มและเมื่อมาถึงโดนmvvวีซ่าแล้วให้รีบลงเรียนภาษาดัชต์ให้เร็วที่สุดเพื่อลงสอบ B1 

หากยังไม่ผ่านB1 แต่สามารถสื่อสารเบื้องต้นได้ให้ลองใช้วุฒิที่เทียบจากnuffic ไปสมัครตามverpleeghuizenแถวบ้านในตำแหน่ง vrijwilligers หรือ helpende เพื่อฝึกภาษาใช้งานจริงและคุ้นชินกับระบบสาธารณสุขในเนเธอแลนด์ เช่น การเขียนnurse note,การเคลื่นย้ายผู้ป่วย,การช่วยเช็ดตัว ต่างๆ รวมถึงคำศัพท์ทางการแพทย์.

เอกสารทั้งหมดที่ขอมาจากไทยจะต้องเป็นภาษาอังกฤษพร้อมทั้งมีชื่อและนามสกุลเราระบุอย่างชัดเจน ถ้าเอกสารเป็นภาษาไทยแนะนำให้แปลเอกสารมาจากไทยเลยเพราะค่าแปลจะถูกกว่าที่เนเธอแลนด์เป็นอย่างมา

 

ข้อดีในการยื่นด้วยเอง คือ ไม่ติดสัญญากับทางเอเจนซี่ สามารถเลือกที่ทำงานหรือย้ายที่ทำงานเองได้, สามารถทำงานพาร์ทไทม์อื่นระหว่างเรียนได้เพราะเราสามารถกำหนดเวลาเอง

ข้อเสีย คือ อาจจะใช้เวลานานหน่อยในการเรียนภาษาเองและหางาน

 

ข้อดีของการยื่นผ่านเอเจนซี่ คือ เอเจนซี่จะจัดการเอกสารทั้งหมดให้ และอธิบายว่าต้องกรอก อย่างไร มีการฝึกปฏิบัติและทฤษฎีต่างๆให้ รวมทั้งให้คอร์สภาษาถึงระดับ B2

 

ข้อเสีย คือ จะต้องไปเรียนที่สถานที่ที่ระบุไว้ในสัญญา(Tillburg) ซึ่งคนที่อยู่ไกลอาจะไม่สะดวกเดินทางทุกวัน , ไม่สามารถทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียนได้เนื่องจากตารางเรียนอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรืออัดแน่น ทำให้ระบุเวลาว่างได้ยาก, ต้องใช้ทุนคืนอย่างน้อย3 ปี หรือ จ่ายคืนค่าคอร์สทั้งหมดในกรณีไม่อยากใช้ทุน, ไม่สามารถเปลี่ยนที่ทำงานเองได้ ต้องปรึกษาเอเจนซี่เพราะจะต้องทำงานในบริษัทที่มีสัญญากับเอเจนซี่เท่านั้น.

 

เว็บไซต์และหนังสือที่เป็นแนวทางการเตรียมสอบ

 

หนังสือ 

  • Proactive klinisch redeneren in zes stappen
  • Proactive nursing Zakboekje
  • Onder de knie boek

Jitlada van Toor
เรียบเรียง

Lorem ipsum..