ปฐมพยาบาลเบบี๋และเด็กน้อยเดอะซีรีย์ (EHBO aan baby’s en kinderen de serie) EP.1 การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Eerste Hulp verlenen)

ปฐมพยาบาลเบบี๋และเด็กน้อยเดอะซีรีย์ (EHBO aan baby’s en kinderen de serie)

คงมีคุณแม่หลายๆคนกังวลมิใช่น้อย เมื่อลูกน้อยของคุณแม่ค่อย ๆโตขึ้น ความซุกซนของเด็กน้อยก็ค่อยๆจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอุบัติเหตุก็อาจจะเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยถ้าคุณแม่ทราบวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องสำหรับเบบี๋และเด็กน้อย ก็อาจจะทำให้คุณแม่มีความอุ่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ต่างแดนค่ะ

ในวันนี้ทางไทสมาคมจะนำเสนอบทความชุดเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล (EHBO: Eerste Hulp Bij Ongeluk) โดยจะอ้างอิงตามหลักการปฐมพยาบาลจากหน่วยงานกาชาด (Rode Kruis) ค่ะ

ปฐมพยาบาลเบบี๋และเด็กน้อยเดอะซีรีย์ จะแบ่งออกเป็นหลายๆบทความย่อย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Eerste Hulp verlenen)
  2. แผลไฟไหม้ (Brandwonden)
  3. แผลที่ผิวหนัง (Huidwonden)
  4. เลือดออก (Bloedingen)
  5. เลือดกำเดาไหล (Neusbloeding)
  6. การได้รับพิษ (Vergiftiging)
  7. สำลัก (Verslikking)
  8. ไข้และไข้ชัก (Koorts en koortsstuipen)

ในวันนี้เราจะมาในหัวข้อ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Eerste Hulp verlenen) ก่อนค่ะ

 

EP.1 การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Eerste Hulp verlenen)

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นสิ่งที่จำเป็นซึ่งสามารถทำได้ระหว่างรอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม จุดประสงค์ของการปฐมพยาบาลคือเพื่อช่วยชีวิตผู้ประสบภัยหรือลดอาการบาดเจ็บ โดยในวันนี้เราจะมาเรียนรู้ 4 ขั้นตอนในการปฐมพยาบาล ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับผู้เผชิญเหตุคนแรกและสามารถนำไปใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก การเรียนรู้ 4 ขั้นตอนต่อไปนี้จะช่วยให้ประเมินสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและให้ความช่วยเหลือในทางที่ถูกต้อง ซึ่งใช้หลักเกณฑ์การปฐมพยาบาลของชาวดัตช์ ฉบับปี 2021 (de Nederlandse Eerste Hulp-Richtlijnen (2021))

ขั้นตอนที่ 1: มั่นใจในความปลอดภัย (Zorg voor veiligheid)

ขั้นตอนที่ 2: ประเมินสภาพของผู้ประสบภัย (Beoordeel slachtoffer)

ขั้นตอนที่ 3: แจ้งเตือนบริการฉุกเฉิน (Alarmeer hulpdiensten)

ขั้นตอนที่ 4: ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Verleen Eerste Hulp)

ขั้นตอนที่ 1: มั่นใจในความปลอดภัย (Zorg voor veiligheid)

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น โดยจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองก่อนเสมอ! เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ประสบภัยเพิ่ม

เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความเครียดได้ ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นการควบคุมอารมณ์ให้ได้เป็นสิ่งที่สำคัญ ลองสูดหายใจเข้าลึก ๆ และจัดระเบียบความคิดของตัวเองก่อน อย่าเพิ่งทำอะไรจนกว่าจะรู้ว่าต้องทำอะไรก่อน หากมีความจำเป็นให้โทรไปที่หมายเลข 112 เพื่อขอคำแนะนำที่จำเป็น

ขั้นตอนที่ 2: ประเมินสภาพของผู้ประสบภัย (Beoordeel slachtoffer)

จุดมุ่งหมายคือการประเมินสภาพทั่วไปของผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว สถานการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถให้เบาะแสเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ประสบภัยได้ บางครั้งอาจต้องทำการฟัง มอง สัมผัส และดมกลิ่น เพื่อที่จะทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการมองข้ามสัญญาณบางอย่าง

เราสามารถประเมินสภาพของผู้ประสบภัยได้โดย

  • สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น
  • ฟังว่าเสียงของการหายใจเป็นอย่างไร (เช่น หายใจดังเสียงฮืด ๆ)
  • มองหาอาการบวม เลือดออก การเปลี่ยนสี หรือตำแหน่งผิดปกติของแขนขา
  • สอบถามว่าผู้ประสบภัยสามารถเคลื่อนไหวด้วยแขนหรือขาได้โดยไม่เจ็บปวดหรือไม่ ถามอย่างละเอียดแต่ห้ามทำการตรวจร่างกายเอง 
  • สังเกตผู้ประสบภัย
  • สัมผัสด้วยแก้มเพื่อดูว่าผู้ประสบภัยที่หมดสติยังมีลมหายใจอยู่หรือไม่
  • ดมกลิ่นเพื่อที่อาจค้นพบสาเหตุ (เช่น กลิ่นน้ำมันเบนซิน หรือลมหายใจแอลกอฮอล์)

ขั้นตอนที่ 3: แจ้งเตือนบริการฉุกเฉิน (Alarmeer hulpdiensten)

ให้ทำการจัดระเบียบความช่วยเหลือรอบตัวโดยเร็วที่สุด ทำการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่ เพราะอาจต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขาในภายหลัง เช่น ช่วยโทรแจ้ง 112 หรือ นำเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) มาให้

ขั้นตอนที่ 4: ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Verleen Eerste Hulp)

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หรือหมอบ้าน ทันทีและทุกประการ รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพของผู้ป่วยกับแพทย์หรือ 112
  • ให้มั่นใจว่าคุณสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัยและพยายามสงบสติอารมณ์ในขณะที่กำลังให้ความช่วยเหลือ
  • ตรวจสอบว่าผู้ประสบภัยยังคงมีสติและหายใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีผู้ประสบภัยหลายราย ให้แจ้งจำนวนภาพรวมของผู้ประสบภัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถประเมินการให้บริการฉุกเฉินที่จำเป็นได้
  • ประคับประคองผู้ประสบภัยในท่าทางที่บาดเจ็บน้อยที่สุด และ/หรือรู้สึกสบายที่สุด
  • จัดท่าทางผู้ประสบภัยที่ไม่ได้สติให้ตะแคงข้าง (อยู่ในท่าพักฟื้น (de stabiele zijligging)) 
  • ให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจหากจำเป็นและทำให้ผู้ประสบภัยสงบลง
  • ปล่อยให้ผู้ที่ขาดสติ เช่น ผู้ที่มีอาการง่วงซึม อยู่ในท่านอน 
  • อย่าให้ผู้ประสบภัยกินหรือดื่มอะไร หากอาการบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ใน EP ต่อๆไป เราจะมาเข้าเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของเบบี๋และเด็กน้อยในรูปแบบอื่นๆกันค่ะ รอติดตามกันนะคะ

 

 

 

ภาวิดา วรวุฒิพุทธพงศ์ (ม้อนต์)
เรียบเรียง