ข้อกำหนดควรรู้เมื่อเดินทางกลับไทยหลังวันที่ 1 กค 2564

ข้อกำหนดมีการเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงดังจะแจกแจงให้อ่านด้านล่างทั้งโปรแกรมภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์และโปรแกรมกักตัวแบบเดิม โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีน(ที่กระทรางสาธารณสุขรับรอง)ครบโดสแล้ว สามารถเตรียมเอกสารรับรองแนบเพื่อใช้แสดงเมื่อจะขอเอกสารอนุมัติการเดินทางเข้าประเทศไทยได้ในโปรแกรมแซนด์บ๊อกซ์ได้

Phuket Sandbox Programme

Phuket Sandbox คือ การเปิดเมืองเพื่อต้อนรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจากต่างประเทศ 

โดยไม่ต้องกักตัวในโรงแรมที่พัก ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องพักเพียงอย่างเดียว (โดยไม่สามารถไปพักที่บ้าน หรือคอนโด) และเมื่อท่องเที่ยวในภูเก็ตครบ 14 วันแล้วสามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ โดยที่นักท่องเที่ยวจะต้องทำการจองที่พักในโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA+ ด้วยถึงจะทำการจองโรงแรมได้ อีกทั้งยังต้องมีการรายงานเกี่ยวกับสุขภาพให้กับทางโรงแรมทราบ หรือในกรณีที่เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับโควิด-19 ทางโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ จะสามารถให้การช่วยเหลือ และประสานงานกับทางโรงพยาบาลได้ทันที

  • กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ และปานกลาง (ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เลือกบางประเทศ ซึ่งจะมีการปรับปรุงแก้ไขรายชื่อประเทศทุก ๆ 15 วัน ณ ปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถใช้สิทธิ์เงื่อนไข Phuket Sandbox ได้
  • คนต่างชาติต้องพำนักอยู่ในประเทศความเสี่ยงต่ำ และปานกลาง อย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางเข้าพื้นที่
  • คนไทย และคนต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทย ที่เดินทางกลับมาจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำและปานกลาง
  • การได้รับวัคซีนที่รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) ครบกำหนด ตามประเภทวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certifiacte) ถูกต้อง
  • กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มากับผู้รับวัคซีน ให้เดินทางพร้อมผู้ปกครองได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต
  • กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนครบตามประเภทของวัคซีน อย่างน้อย 14 วัน
  • มีผลการตรวจโควิด-19 (COVID Free) RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมง
  • มีประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมโควิด-19 วงเงินคุ้มครอง ไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD)

(1) ยื่นเอกสาร – รับใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ COE

(2) ยืนยันผลการอนุมัติพร้อมกับเอกสาร COE

(3) ลงทะเบียนผ่านทาง www.entrythailand.go.th

(4) ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ)

(5) เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ณ สนามบินภูเก็ต

(6) เดินทางเข้าที่พักมาตรฐาน SHA PLUS ด้วยพาหนะที่กำหนด

(7) รอผลตรวจในห้องพัก เมื่อไม่พบเชื้อ สามารถออกจากห้องพักและเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้

(8) พำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน กรณีอยู่น้อยกว่า 14 คืน ต้องเป็นการเดินทางด้วยเที่ยวบินตรงออกนอกราชอาณาจักร จากจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น**

(9) ตรวจ RT-PCR ตามระยะเวลาที่พำนัก (ในวันที่ 6-7 และ 12-13)

(10) ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A

  • เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
  • สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
  • ล้างมือบ่อย ๆ
  • ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
  • ตรวจหาเชื้อโควิด 19
  • ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและหมอชนะ

** มีข้อกำหนดว่าคุณต้องเข้าพักที่โรงแรม SHA Plus เพียงโรงแรมเดียวในช่วงใน 7 คืนแรก จากนั้นคุณจะสามารถย้ายไปโรงแรมอื่น ๆ ใน 7 คืนหลัง หมายความว่าคุณสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนโรงแรมได้เพียง 2 ครั้ง ภายในเวลา 14 วัน ในกรณีที่คุณเข้าพักในภูเก็ตน้อยกว่า 14 คืน คุณต้องเดินทางกลับโดยใช้สนามบินนานาชาติภูเก็ต

(11) จากจังหวัดภูเก็ตไปจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยให้แสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า ได้พำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน และมีหลักฐานการควบคุมโรคตามที่จังหวัดปลายทางกำหนดหลังจากนั้น สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ภายในประเทศไทย โดยปฏิบัติตามมาตรการเข้าจังหวัดปลายทาง

5 เงื่อนไขยกเลิก Phuket Sandbox

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ทางรัฐบาลจะสามารถปรับ ชะลอ หรือยุติโครงการได้

  1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 คน/สัปดาห์
  2. ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และ มากกว่า 6 ตำบล
  3. มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้
  4. ความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย หรือมีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 60 ของศักยภาพของจังหวัด
  5. มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้

โดยจะมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับดังนี้

  1. ปรับลดกิจกรรม
  2. Sealed Route
  3. Hotel quarantine 
  4. ทบทวนยุติ PhuketSandbox

การเดินทางกลับประเทศไทยสำหรับผู้มีสัญชาติไทย

(1) การกักตัว – ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป คนไทยที่จะเดินทางไปประเทศไทย จะต้องรับผิดชอบสำรองสถานที่กักตัวและจ่ายค่าใช้จ่ายเอง โดยรัฐจะสนับสนุนค่าตรวจหาเชื้อโควิดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย โดยสามารถดูรายชื่อสถานที่สำหรับกักตัวได้ที่ [AQ] >>คลิก

(2) ระยะเวลาการกักตัว – ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางไปประเทศไทยทุกคนจะต้องกักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วหรือไม่จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง

(3) ใบรับรองแพทย์ fit to flyตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป คนไทยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ fit-to-fly ในการเดินทางไปประเทศไทย

**คำเตือน** สายการบินมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขในการใช้บริการเพิ่มเติมจากที่ทางการไทยกำหนด ดังนั้น ผู้เดินทางจะต้องตรวจสอบกับสายการบินโดยตรงและปฏิบัติตาม

การแจ้งที่พักคนต่างด้าว

เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูการท่องเที่ยวของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหลาย ๆ คน นั้น เลือกที่จะกลับไปเที่ยวยังประเทศไทย จึงมีกฎข้อควรรู้สำหรับการให้ที่พักสำหรับคนต่างด้าวมาฝากกัน

เวลาที่เราเดินทางกลับไทยนั้น เราอาจจะเดินทางกลับไปพร้อมกับครอบครัวของเรา ซึ่งอาจจะเป็นคนต่างชาติที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย และ ไปพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านของเรานั้น เราผู้เป็นเจ้าของบ้านมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. ภายใน 24 ชั่วโมง กรณีถ้าพักที่โรงแรมเราไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้ง เพราะทางโรงแรมจะเป็นคนแจ้งเอง แต่ในกรณีที่พักที่บ้านเรา เจ้าบ้านจะต้องเป็นคนแจ้ง

กฎหมายนี้มีมานานมากแล้ว แต่เพิ่งจะมาเคร่งครัดภายในปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่ามีคนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดเป็นจำนวนมาก ถ้าเราไม่แจ้งแล้วโดนสุ่มตรวจเจอขึ้นมา จะมีความผิด เพราะถือเป็นการให้ที่พักต่างด้าวแบบผิดกฎหมาย จะโดนค่าปรับ 2000 บาท ส่วนคนต่างด้าวอาจจะโดนติด blacklist ในการห้ามเข้าประเทศไทยอีก

การแจ้งที่พักคนต่างด้าวจะต้องแจ้งภายใน 24 ชม หลังจากที่คนต่างด้าวได้เข้าพักที่บ้าน โดยสามารถแจ้งได้ 4 ช่องทางคือ

  • แจ้งทางไปรษณีย์
  • แจ้งกับ ตม. ในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่
  • ถ้าจังหวัดที่เราไม่มี ตม. ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ
  • ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น TM 38 หรือ เวปไซต์ https://extranet.immigration.go.th/fn24online/

การที่ต้องแจ้งการเข้าพักภายใน 24 ชั่วโมง นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากอยู่ ซึ่งเกิดเนื่องจากมาตรการการป้องกันการก่อการร้าย ที่กำลังคุกคามโลกในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับ Interpol และกองกำลังตำรวจนานาชาติ เพื่อช่วยยับยั้งผู้ก่ออาชญากรรมที่เข้ามาหลบหนี และพำนักพักพิงอยู่ในประเทศไทย กฎหมายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มการสอดส่องดูแลชาวต่างชาติ ไม่ว่าพวกเขาจะมาท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย หรือมาอาศัยอย่างถาวรก็ตาม และยังเป็นการเก็บข้อมูลการท่องเที่ยวของภาครัฐอีกด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใช้เพื่อควบคุมมิให้ชาวต่างชาติอยู่นานเกินระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด หรือเข้ามาทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย

  1. แบบฟอร์ม ตม. 30  กด download ได้ที่นี่้ Click>>  หรือ ที่  http://www.ayutthaya-immigration.go.th/form.html
  2. Passport ตัวจริงของคนต่างชาติ + ใบ ตม.6 (ตัวอย่างใบ ตม.6 ดูได้ข้างล่าง)
  3. สำเนา Passport + ใบ ตม. 6
  4. สำเนาทะเบียนบ้าน ของเจ้าบ้าน
  5. สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้าน
  6. เจ้าบ้านต้องไปด้วยตัวเอง ในกรณีที่เจ้าบ้านไม่สามารถไปได้ ต้องทำหนังสือมอบอำนาจแนบไป

หลังจากแจ้งเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะแปะกระดาษใน Passport ของคนต่างด้าว (ตามรูป) การแจ้งที่พักคนต่างด้าวทั้งหมดคือ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย !!

ป.ล. ตามกฎหมายระบุว่า ทุกครั้งที่มีการออกไปนอกพื้นที่เกิน 24 ชม. แล้วกลับมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ได้แจ้งกับ ตม. แล้วว่าได้เข้าพักที่บ้านนาย A หลังจากนั้น 2 วันได้เดินทางไปต่างจังหวัด เป็นเวลา 1 คืน แล้วกลับมาที่บ้านเนาย A แล้วพักอยู่อีก 2 คืน กรณีนี้ก็ต้องดำเนินการแจ้งกับ ตม. ใหม่อีกครั้งค ทำแบบนี้ทุกครั้ง เวลาเข้า-ออก พื้นที่

ตัวอย่างใบ ตม. 6

ไกรสร (เบียร์) สุขดี

เรียบเรียง