ลมหนาวกับภาวะซึมเศร้า

สวัสดีค่ะ เป็นอย่างไรกันบ้างแล้วคะ ยังไหวกันอยู่ไหม เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง แสงแดดระหว่างวันก็เริ่มน้อยลง อากาศก็เย็น ฝนก็ตก โควิดก็ยังอยู่ หูย… บรรยากาศหดหู่น่าดู แต่… เรายังต้องเข้มแข็งนะคะ รักษาร่างกายให้แข็งแรง รักษาใจให้แข็งแกร่ง แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกันค่ะ :)ช่วงที่อากาศเริ่มเย็น แสงพระอาทิตย์เริ่มน้อยลง หลายคนก็จะเริ่มห่อเหี่ยว อาการอย่างนี้ ฝรั่งเรียกกันว่า Winter Blues หรือ Winter Depression คนดัชต์ก็เรียกเหมือนกัน แต่ภาษาดัชต์เขียนต่อกันไม่เว้นวรรคเป็น winterblues หรือ winterdepressie ส่วนภาษาทางการแพทย์เรียกว่าโรค SAD ค่ะ เป็นคำย่อที่เห็นภาพเลย เพราะชื่อเต็มคือ Seasonal Affective Disorder ภาวะซึมเศร้าที่เกิดตามฤดูกาล ซึ่งส่วนมากก็เกิดช่วงฤดูใบไม้ร่วง แล้วอาการก็จะเริ่มดีขึ้นเมื่อแสงแดดเริ่มกลับมาเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิค่ะ

อาการของโรค

ดูง่ายๆ เลยค่ะ คล้ายๆภาวะซึมเศร้าเลย คนไข้ส่วนมากก็จะ

  • รู้สึกห่อเหี่ยว ซึมเศร้า บางครั้งก็น้ำตาปริ่ม
  • รู้สึกไม่มีพลังงาน ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า
  • บางคนหงุดหงิด อะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ ใครทำอะไรก็ผิดไปหมด
  • ไม่มีกระจิตกระใจจะทำกิจกรรมอะไรที่เคยทำ
  • การกินและการนอนผิดปกติไป

ข้อสังเกตระหว่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้ากับซึมเศร้าเฉพาะฤดู นอกจากจะเป็นช่วงเวลาเฉพาะเจาะจงของปีแล้ว คนที่เป็นซึมเศร้ายังกินได้น้อย น้ำหนักลด และนอนไม่หลับ ในขณะที่คนที่เป็นซึมเศร้าเฉพาะฤดูจะโหยหาแป้งและของหวาน กินเยอะขึ้น น้ำหนักขึ้น และนอนนาน ไม่อยากลุกจากเตียงเลยค่ะ

(จุ๊ จุ๊… ทุกคนอย่าคิดดังค่ะ นี่แค่นั่งพิมพ์อยู่ยังได้ยินเสียงคนอ่านลอยมา… ขี้เกียจชัดๆ หนาวแล้วขี้เกียจ อย่างนี้ฉันก็เป็น! ฮ่าาา…) ฟังเหมือนล้อเล่นแต่โรคซึมเศร้าเฉพาะฤดูมีอยู่จริงนะคะ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคก็เหมือนโรคทางจิตใจส่วนมาก คือ ไม่สามารถระบุชัดได้ แต่บอกได้ว่าปัจจัยที่น่าจะมีผลแน่นอน คือ แสงอาทิตย์ ค่ะ เพราะแสงอาทิตย์มีผลกระทบต่อสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งรับผิดชอบต่อการผลิดฮอร์โมน melatonin และ serotonin

Melatonin มีผลทำให้เราง่วงนอน คนไข้ที่มีภาวะซึมเศร้าแบบ winterblues อาจจะมีการสร้าง melatonin มากขึ้น ทำให้นอนมากขึ้น

Serotonin มีผลต่ออารมณ์ ความอยากอาหาร และการนอน แสงอาทิตย์ที่น้อยลงอาจทำให้ร่างกายผลิด serotonin น้อยลง คนไข้จึงมีอาการของภาวะซึมเศร้าได้

ปัจจัยอีกอย่างที่มีผลกับแสงอาทิตย์ คือ นาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) แสงสว่างมีผลต่อนาฬิกาในตัวเรา เราใช้แสงสว่างเป็นตัวบอกว่าตอนนี้เราควรตื่นนอน หรือ ควรลุกมาทำกิจวัตรประจำวันแล้ว แสงสว่างระหว่างวันที่น้อยลงก็มีผลทำให้นาฬิกาชีวิตรวน จนเกิดภาวะซึมเศร้าได้  ปัจจัยหนึ่งที่อาจมีผล คือ พันธุกรรมด้วยค่ะ

การรักษา

เนื่องจากสาเหตุที่สำคัญของภาวะนี้ คือ แสงอาทิตย์ การรักษาหลักเลย คือ พยายามทำให้ตัวเองได้รับแสงแดดตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุดค่ะ

  1. การปรับพฤติกรรม เดินสูดอากาศ รับแสงแดดตามธรรมชาติ ถ้าไม่ได้ออกนอกบ้าน ลากเก้าอี้มานั่งติดหน้าต่างให้แสงแดดส่อง เปิดมู่ลี่ เปิดม่าน บางครั้งการตัดกิ่งไม้ออกบ้างนอกจากจะดีกับต้นไม้ ทรงไม้แล้ว ยังทำให้แสงแดดส่องเข้าบ้านได้ดีขึ้นด้วยนะคะ
  2. Light therapy การรักษาด้วยแสง เป็นการรักษาหลักหากปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล แต่ไม่ควรซื้อไฟมาส่องเองนะคะ เพราะระยะเวลา ลักษณะแสง มีผลมากค่ะ เพราะฉะนั้นปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการรักษานี้นะคะ
  3. คุยกับจิตแพทย์
  4. การใช้ยาต้านภาวะซึมเศร้า

การรักษาข้อ 2-4 ต้องพบแพทย์ก่อน ฉะนั้นทางที่ดีเราปรับพฤติกรรมตัวเองก่อนค่ะ พยายามเดินเล่นนอกบ้าน ออกกำลังกายนอกบ้าน รับแสงแดดให้เพียงพอ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นแนะนำพบแพทย์ค่ะ

มื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการของภาวะซึมเศร้าอยู่หลายวันแล้วไม่ดีขึ้น ไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ มีผลต่อการกินหรือการนอน หรือเมื่อเริ่มรู้สึกหมดหวังหรือขั้นคิดสั้น ควรต้องพบแพทย์แน่นอนนะคะ

ภาษาดัชต์มีคำว่า uitwaaien ถ้านำมาใช้กับภาวะซึมเศร้าเฉพาะฤดูนี้ก็จะกลายเป็น การทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เดิน วิ่ง เปลี่ยนอากาศแย่ให้เป็นอากาศดี สูดอากาศบริสุทธิ์ จริงๆการสูดอากาศบริสุทธิ์ช่วยได้อย่างไรไม่มีใครทราบ แต่ถ้าออกมา uitwaaien แล้วได้รับแสงพระอาทิตย์มากขึ้นช่วยได้แน่นอนค่ะ

ไม่ว่าจะฤดูนี้หรือฤดูไหน เราจะผ่านมันไปแบบสุขภาพดีด้วยกันนะคะ 🙂

ที่มา: https://www.nhs.uk/conditions/seasonal-affective-disorder-sad/
https://www.nhsinform.scot/
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seasonal-affective-disorder/symptoms-causes/syc-20364651