ส่งเงินกลับไทย เสียภาษีหรือไม่?

ภาษีดัตช์

เงินที่เราส่งกลับไปเมืองไทยนั้น หากโอนไปเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ถือเป็น “เงินให้เปล่า” หรือจัดอยู่ในกลุ่มของการ Schenken

การมอบให้หรือได้รับเงินประเภทนี้  จะพิจารณาที่จำนวนเงินว่ามีมูลค่าเท่าใด  และจะดูความสัมพันธ์ของผู้ให้และผู้รับว่ามีความสัมพันธ์ตามสายเลือดลำดับใด  หากยอดที่มอบให้เกินเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้น ก็จะต้องเสียภาษี Schenkbelasting  โดยจะยึดกฎของประเทศที่อยู่อาศัยของผู้มอบให้เป็นหลัก – หมายความว่า ถ้าเราอาศัยอยู่ที่เนเธอแลนด์เราจะต้องเสียภาษีที่นี่ นั่นเองค่ะ

ถ้าเราเป็น พ่อ/แม่ ส่งเงินไปให้ลูก  แล้วยอดรวมทั้งปีสูงกว่า €5.515,- จะต้องเสียภาษี Schenkbelasting 10% (หากยอดไม่เกิน € 126.723,-)  แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณี  เช่น

  1. เราสามารถมอบเงินให้ลูกโดยได้รับการยกเว้นภาษี สูงสุดถึง €26.457,- หากลูกมีอายุ ระหว่าง 18-40 ปี โดยลูกจะนำเงินนี้เพื่อจุดประสงค์ใดก็ได้   แต่กรณียกเว้นนี้จะสามารถใช้ได้แค่ 1 ครั้ง และการมอบให้ จะต้องมีการยื่นแบบภาษี Schenkbelasting
  2. เราสามารถมอบเงินให้ลูกโดยได้รับการยกเว้นภาษี สูงสุดถึง € 103.643,- หากลูกมีอายุ ระหว่าง 18-40 ปี และเงินนี้ต้องนำไปเพื่อการซื้อ ที่อยู่อาศัยเท่านั้น(มีเงื่อนไข)
  3. เราสามารถมอบเงินให้ลูกโดยได้รับการยกเว้นภาษี สูงสุดถึง € 55.114 และเงินนี้ต้องใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น (มีเงื่อนไข)

(ในทางกลับกัน)  ถ้าเราเป็นลูกแล้วส่งเงินให้พ่อแม่  จะไม่จัดอยู่ในกลุ่มข้างต้น และมียอดเงินที่ได้รับการยกเว้นต่ำกว่า หากเราส่งเงินช่วยเหลือพ่อแม่ที่เมืองไทย เกิน €2208,- จะต้องเสียภาษี Schenkbelasting 30% ซึ่งสูงกว่ามากๆเลยค่ะ

ตามกฎแล้วสามารถเลือกได้ว่า ใครจะเป็นคนจ่ายภาษีนี้ แต่หาก “ผู้มอบให้” เป็นคนจ่าย ยอดภาษีนี้ก็จะสูงขึ้นไปอีกค่ะ

คนที่ส่งเงินกลับเมืองไทยบ่อยๆ อย่าลืมเช็คยอดเงินรวมทั้งปี หากเกินเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้น อย่าลืมยื่นภาษีนะคะ

อ้างอิงตัวเลขที่ระบุข้างต้น ถือตามกฏระเบียบของสรรพกร ปี 2020  ดูรายละเอียดเพิ่มเติม >>>