หน้าร้อนนี้ มาป้องกันตัวเองจากโรคลมแดดกัน

สวัสดีค่ะ ในที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็เข้าสู่ฤดูร้อนกันอย่างเต็มตัว สัปดาห์หลังจากเข้าสู่ฤดูร้อนปุ๊บ อุณหภูมิอากาศก็พุ่งกันไปถึง 30 องศาเลยทีเดียว เดินออกจากบ้าน ใส่เสื้อแขนยาวก็ร้อน ใส่แขนสั้นก็ไหม้ อากาศร้อนๆ อย่างนี้ถ้าไม่พูดถึง โรคลมแดด คงไม่ได้ โรคลมแดด คึอ อะไร เราจะป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร ตามมาอ่านกันเลยค่ะ

โรคลมแดด ภาษาอังกฤษเรียก Heat stroke ภาษาดัชต์เรียก Hitteberoerte
สาเหตุ: โรคลมแดดเกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงนานๆ ส่วนมากก็ร่วมกับภาวะขาดน้ำ ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิตัวเองให้อยู่ในระดับปกติได้ เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนผิดปกติก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า โรคลมแดด นี่เองค่ะ

 

อาการ: ของโรคลมแดด มีได้ตั้งแต่ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน สับสน ตะคริว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็ว จนถึง ลมชัก หรือหมดสติได้
ถ้าอุณหภูมิร่างกายที่วัดทางก้นสูงไปถึง 40 องศาก็อาจเกิดอาการขั้นรุนแรงที่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษา เพื่อป้องกันอันตรายต่ออวัยวะที่สำคัญในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ไต

ถ้าสงสัยว่าใครเป็นลมแดดให้โทรเรียกฉุกเฉิน ที่เนเธอร์แลนด์โทรเรียกรถฉุกเฉินที่หมายเลขโทรศัพท์ 112
ย้ายคนไข้เข้าที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเท ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดระบายความร้อนทางผิวหนัง โดยเฉพาะรักแร้ คอ ขาหนีบ หลัง เพราะบริเวณเหล่านี้มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก ถ่ายเทอุณหภูมิได้เร็ว

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคลมแดด
1. อายุ เด็กทารก เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ หรือผู้สูงอายุ ที่มีอายุเกิน 65  ปีขึ้นไป กลไกระบบประสาทยังพัฒนาไม่เต็มที่ หรือเริ่มเสื่อม

2 กลุ่มไม่จำกัดอายุ ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ระบบประสาทในร่างกายทำงานผิดปกติ ดื่มน้ำน้อย หรือมีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือภาวะใดๆ ที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

3 ยาบางชนิด เช่น ยาต้านฮีสตามีน ยาลดความอ้วน ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาคลายประสาท ยาต้านซึมเศร้า รวมถึงสารเสพติด เช่น ยาบ้า และโคเคน

การป้องกันโรคลมแดด
ตัวเอง:

  1. สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อเบา ที่ไม่รัดรูป สีอ่อน สวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันแดด
  2. ทากันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
  3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว รวมถึงน้ำผลไม้หรือน้ำผักปั่่น เพื่อให้ได้แร่ธาตุและอิเลกโทรไลต์ด้วย
    ถ้าออกกำลังกายในภาวะที่อากาศร้อน แนะนำดื่มน้ำ 700 มล. 2 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย และดื่มอีก 200 มล  ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ระหว่างออกกำลังกายให้ดื่มน้ำ 200 มล ทุก 20นาที
  4. สังเกตการปัสสาวะและสีปัสสาวะ การปัสสาวะที่ห่างขึ้่นและสีปัสสาวะที่เข้มขึ้นบอกถึงภาวะขาดน้ำ
  5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรีอแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกมากขึ้น เกิดการขาดน้ำได้ง่ายขึ้น

สภาพแวดล้อม:

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง พยายามเลื่อนกิจกรรมกลางแจ้งมาเป็นเวลาที่อากาศไม่ร้อนมาก เช่น ตอนเช้า หรือหลังพระอาทิตย์ตก
  2. ถ้าบ้านมีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ ให้พยายามอยู่ให้ห้องที่มีเครืองปรับอากาศ ปิดผ้าม่าน มู่ลี่ ในช่วงที่อากาศร้อน และเปิดหน้าต่างระบายอากาศให้อากาศถ่ายเทเมื่ออุณหภูมิเริ่มเย็นลง

สรุปข้อควรจำเรื่องโรคลมแดด – โรคลมแดดเกิดจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น จากสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อน

ข้อควรจำข้อที่ 1: ร่างกายมีกลไกจัดการกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วยการระบายความร้อนผ่านทางเหงื่อ เพราะฉะนั้นช่วงที่อากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้ไม่ขาดน้ำ

ข้อควรจำข้อที่ 2: การถ่ายเทอากาศในบ้าน ตอนเช้าอากาศยังไม่ร้อน เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท พออากาศเริ่มร้อนปิดประตูหน้าต่าง ปิดม่าน ปิดมูลี่ไม่ให้แดดร้อนๆเข้าบ้าน หลังพระอาทิตย์ตกอากาศเริ่มเย็นเปิดประตูหน้าต่างหน้าบ้านหลังบ้านให้ลมผ่านได้นะคะ ความร้อนลอยสู่ที่สูง ห้องด้านบนของบ้านจะร้อนที่สุด อย่าลืมเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้เจ้าตัวน้อยที่มักมีห้องนอนอยู่ด้านบนสุดของบ้านกันนะคะ

ข้อควรจำข้อที่ 3: อย่าทิ้งใครไว้ในรถโดยไม่เปิดหน้าต่างอย่างเด็ดขาด รถที่จอดกลางแจ้งอุณหภูมิในรถสามารถสูงขึ้น 7 องศาเซลเซียสได้ภายในเวลา 10 นาที

แล้วเราจะผ่านหน้าร้อนนี้อย่างสุขภาพดี ไปด้วยกันค่ะ

หมอมิ้น

Reference:
https://www.webmd.com/a-to-z-guides/heat-stroke-symptoms-and-treatment
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heat-stroke/symptoms-causes/syc-20353581