ยาพาราเซตามอล – ยาสามัญประจำบ้าน

ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณพี่แต้ว และบก. ที่ให้โอากาสมิ้นมาแบ่งปันความรู้ผ่านวารสารไทสมาคมนะคะ ทราบว่าบก.อยากให้เขียนแบ่งปันความรู้ทางการแพทย์ คิดอยู่นานค่ะว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี บังเอิญวันก่อนอ่านเจอบน Facebook เรื่อง ราชกิจจานุเบกษา ระงับการใช้ยา 25 รายการ ที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ บวกกับได้ยินคนที่นี่บ่นกันเรื่อยๆทั้งคนไทยคนเทศ ว่าหาหมอที่เนเธอร์แลนด์ ไม่เคยได้อะไรนอกจากยาพาราเซตามอล  เลยขออนุญาตหยิบเรื่องใกล้ตัวมาเขียนบอกเล่าเป็นเรื่องแรกกันเลยนะคะ ยาพาราเซตามอล – ยาสามัญประจำบ้าน

ยาพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกคนน่าจะเคยกิน เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ปลอดภัยที่สุดและควรเลือกใช้เป็นตัวเลือกอันดับแรก แต่ที่ต้องประกาศไม่ใช่เพราะยาพาราเซตามอลไม่ปลอดภัย แต่เป็นเพราะมียาบางชนิดที่มีตัวยาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาแก้ปวดคคลายกล้ามเนื้อนอร์จีสิก (Norgesic) มียาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ยาลดอาการหวัดบางตัวเช่น ดีคอลเจน มีตัวยาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้พาราเซตามอลจะเป็นยาที่ปลอดภัย(เมื่อใช้ถูกวิธี)แต่ถ้ากินมากเกินไปก็ทำให้เกิดโทษได้ค่ะ

ชื่อยา:

พาราเซตามอลเป็นชื่อของตัวยาที่ออกฤทธิ์ ชื่อการค้ามีได้ตั้งแต่ พารา ซาร่า ไทลินอล ฝั่งไทยและยุโรปเรียกตัวยาว่า พาราเซตามอล แต่ข้ามไปฝั่งอเมริกา จะเจอ Acetaminophen เป็นตัวออกฤทธิ์ใน `Tylenol ทั้งนี้ทั้งนั้น Paracetamol กับ Acetaminophen คือตัวเดียวกันนะคะ เวลาจะกินยาอ่านข้างกล่องดีๆ เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสไปเดินสำรวจร้านที่มียาพาราเซตามอลขายแล้ว ที่เนเธอร์แลนด์ซื้อยาพาราเซตามอลเองได้ไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แถมเขียนตัวยาชัดเจนตรงๆ Paracetamol 500

ขนาดของยา:

ขนาดยาที่แนะนำให้กิน คำนวณตามน้ำหนักตัว
10-15 มก./กก./ครั้ง ไม่เกิน 1,000 มก. ต่อครั้ง และไม่เกิน 4,000 มก.ต่อวันในผู้ใหญ่ และ 2-3 กรัมในเด็ก ขึ้นกับน้ำหนักตัวและอายุ

คนน้ำหนักน้อย < 50 กก. ควรกินยาพาราเซตามอล 500 มก ครั้งละเม็ด
คนน้ำหนักมาก > 67 กก. กินยาพาราเซตามอล 500 มก ครั้งละ 2 เม็ดได้ แต่ต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ปริมาณยาเกิน 4000 มก/วัน
คนน้ำหนักระหว่าง 50-67 กก. จะกินยาพาราเซตามอล 500 มก 1 เม็ดครึ่งได้ค่ะ ยาเม็ดแป้งหักครึ่งหรือใช้มีดหั่นก็ได้ค่ะ

**เวลากล่องยาเขียนว่า Paracetamol 500 แปลว่า 1 เม็ดยามี พาราเซตามอลอยู่ 500 มก.

ขอบคุณภาพประกอบจาก FB: smart consumer

**ผู้ป่วยโรคตับและโรคไต ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาพาราเซตามอล เนื่องจากยาพาราเซตามอลจะถูกทำลายที่ตับก่อนขับออกทางปัสสาวะ

การป้องกันอันตรายจากยา

  1. ยาพาราเซตามอลเป็นยาบรรเทาอาการไม่ใช่ยารักษาโรค ถ้ากินยาแล้วอาการหวัด หรืออาการปวดไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา เพื่อป้องกันการกินยาต่อเนื่องโดยไม่จำเป็น
  2. จดรายการยาที่กิน เวลาที่กิน ขนาดยาที่กิน เพื่อป้องกันไม่ให้กินยาเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจ

ทิ้งท้ายก่อนลา ช่วงนี้อากาศหนาวอีกแล้ว ดูแลรักษาสุขภาพกันนะคะ สุขภาพตับรักษาได้โดยการไม่กินยาโดยไม่จำเป็น ไม่บริโภคแอลกอฮอล์ ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เวลาไม่สบายกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ลดปวดได้ โดยกินให้ถูกขนาด ไม่กินยาเกินปริมาณ อ่านรายละเอียดยาข้างกล่อง จดรายละเอียดทุกครั้งที่กินยา ถ้าอาการไม่ดีขึ้นพบแพทย์เพื่อตรวจรักษานะคะ พบกันใหม่คราวหน้านะคะ สวัสดีค่ะ

หมอมิ้น พญ.ปาจรีย์ สแน็บฟังเงอษ จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจากไทย ย้ายติดตามสามีมาอยู่เนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2018 ค่ะ ตอนนี้ยังไม่ได้ทำงานรักษาพยาบาลใครที่ไหน เป็น fulltime mom เต็มเวลาค่ะ

One thought on “ยาพาราเซตามอล – ยาสามัญประจำบ้าน

  1. Pingback: ดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร เมื่อติดโควิด ? – Thaise Stichting

Comments are closed.