ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อตัดสินใจ จะอยู่ด้วยกันกับใคร แล้ว มีทางเลือกอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ
- การจดทะเบียนสมรส หรือ การแต่งงาน (Huwelijk หรือ Trouwen)
- การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (Geregistreerd partnerschap)
- การใช้ชีวิตอาศัยอยู่ด้วยกัน (Samenwonen)
ความแตกต่างของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในแบบต่างๆ
ในเนเธอร์แลนด์ การที่ ชาย-หญิง หรือ ชายสองคน หรือ หญิงสองคน จะแต่งงานกัน หรือจะจดทะเบียนเป็นพาร์ทเนอร์กัน หรือจะทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (samenlevingscontract) ได้ หรือแม้แต่คุณใช้ชีวิตอาศัยอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องมีพันธะทางกฏหมายก็ได้เช่นกัน
การแต่งงาน และการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
การแต่งงานและการจดทะเบียนพาร์เนอร์มีความคล้ายกันอย่างมาก การจดทะเบียนทั้ง 2 แบบนี้ ต่างก็มีผลทางกฏหมาย มีขั้นตอนการจดทะเบียนคล้ายกัน แต่ความแตกต่างก็มีเมื่อ คุณมีบุตรมาก่อน หรือมีบุตรร่วมกัน และเมื่อจดทะเบียนกันแล้ว คุณและคุ่ชิวีตของคุณจะร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินและสมบัติร่วมกัน(ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน )แบบ 50/50 ไปโดยอัตโนมัติ (ทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีมาก่อนของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หากหย่าร้างกันขึ้นไม่ อีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดชอบภาระในส่วนนั้น กฎนี้บังคับใช้เฉพาะสำหรับคนที่แต่งงานหลังวันที่ 1 มกราคม 2018)
ความแตกต่างของการแต่งงานและการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
หากบุตรที่เกิดขึ้นในชายและหญิงที่จดทะเบียนสมรส หรือแต่งงานกัน คู่สมรสทั้งคู่จะเป็นพ่อและแม่ของเด็กที่เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่า ผู้ชาย จะไม่ได้เป็นพ่อทางชิวภาพ (biologische vader) ก็ตาม แต่สำหรับในคู่ที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์กัน ไม่เป็นเช่นนั้น
สำหรับการหย่าร้างในคู่ที่จดทะเบียนพาร์ทเนอร์กัน ไม่จำเป็นต้องขอคำสั่งของศาล ทั้งนี้ทั้งคู่จะต้องยินยอมและต้องไม่มีบุตร ที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ด้วยกันขณะหย่าร้าง จึงจะสามารถจบความสัมพันธ์และหย่าร้างกันได้นอกศาลนั่นเอง แต่หากจดทะเบียนสมรส แต่งงานกันต้องส่งเรื่องยื่นต่อศาล ให้ศาลสั่งเท่านั้น
การจดทะเบียนสมรส แต่งงานกัน ทั้งคู่ จะต้องกล่าวคำ “ตกลง” (ja word) ยืนยัน แต่สำหรับการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์มิได้บังคับ
การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ไม่สามารถนำเอกสารไปปรับสถานภาพการแต่งงานที่เมืองไทยได้ เนื่องจากเมืองไทยมีแค่การแต่งงานอย่างเดียวเท่านั้น
การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์คือ จะไม่มีการทำพิธีการ หรือ กล่าวดำเนินการใดๆ จาก Ambtenaar คือกล่าวง่ายๆ คือ เข้าห้องเซ็นชื่อต่อหน้า Ambtenaar เป็นอันเสร็จพิธีการ ไม่จำเป็นต้องจัดงานเลี้ยง หรือ เชิญแขกมาร่วมแสดงความยินดี ไม่ต้องวางแผนการแต่งงาน สวมชุดเจ้าสาวเจ้าบ่าว ไม่ต้องสิ้นเปลือง
การใช้ชีวิตอาศัยอยู่ด้วยกัน (Samenwonen)
หากคุณยังไม่มีความประสงค์จะจดทะเบียนแต่งงานหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ คุณก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ศึกษากัน ไปก่อน จนกว่าทั้งคู่จะพร้อม หรืออาจจะอยู่แบบนี้ไปตลอดชีวิตก็ได้ เพราะไม่มีเงื่อนไขของกฎหมายมาบังคับ
Samenlevingscontract
ระหว่างนี้หากคุณและคู่ของคุณอยากจะทำสัญญาอยู่ด้วยกันก็สามารถทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (Samenlevingscontract) เพื่อระบุข้อตกลงในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เช่น ค่าใช้จ่ายในบ้านใครจะเป็นคนรับผิดชอบใครมีสิทธิในบัญชีธนาคารที่เปิดไว้ร่วมกัน หรือ ใครคือเจ้าของทรัพย์สินใดๆอย่างชัดเจนเป็นต้น ซึ่งในการทำสัญญาขึ้นมาแบบนี้ สามารถร่างกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องจัดทำโดยทนาย แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องให้ทนายดำเนินการให้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับบุคคลที่สาม เช่น คุณต้องการทำสัญญาเพื่อรับเงินเกษียณ เงินบำนาญ ของคู่ของคุณ อันนี้ต้องไปพบทนายเพื่อจัดทำเอกสาร
การทำสัญญาใช้ชีวิตอยุ่ด้วยกันนี้ ใช้กันมากเมื่อมีเรื่องของ “เงิน” และ “ธุรกิจ” เข้ามาเกี่ยวข้องในคู่ที่ไม่อยากใช้การจดทะเบียนสมรส หรือการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์มาเป็นหลักและข้อผูกมัดในทางกฏหมาย การทำสัญญาชนิดนี้ สามารถทำได้โดยผ่าน notaris ออกมาเป็นสัญญาที่ถูกต้องตามกฏหมาย ปกติแล้วการทำสัญญาชนิดนี้จะมีผลให้คู่ที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้สมรสหรือจดทะเบียนกันนั้น สามารถทำนิติกรรมร่วมกันทางกฏหมายได้เหมือนคู่สมรส (ในบางหัวข้อที่ได้ตกลงกันไว้) เช่น เมื่อทั้งคู่จะซื้อบ้านด้วยกัน หรือเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตร เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อสรุปให้เห็นถึงความแตกต่างคร่าวๆของ การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ การทำสัญญา samenlevingscontract
การใช้ชิวิตอยู่ด้วยกันเฉยๆ เรียกว่า samen wonen แตกต่างกับการทำสัญญา samenlevingscontract กล่าวคือการทำสัญญา samenlevingcontract คือสัญญาตกลงรับผิดชอบหน้าที่ หรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ต่างกันกับ samen wonen คืออยู่ด้วยกันเฉยๆโดยไม่มีข้อตกลงใดๆทั้งสิ้น
เงื่อนไขสำคัญในการจดทะเบียนสมรส หรือ การจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
– คุณและคู่สมรสของคุณ ต้องโสด และไม่ได้มีการจดทะเบียนกับบุคคลอื่นอยู่
– คุณและคู่สมรสของคุณ ต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี
– หากคุณหรือคู่สมรสของคุณ อยู่ภายใต้สถานะ curatele จะต้องได้รับอนุญาตจาก curator เสียก่อน จึงจะสามารถขอจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ได้
- คุณและคู่สมรสของคุณ ต้องไม่เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน
การจดทะเบียนกับคู่สมรสต่างชาติ หรือคุณอาศัยอยู่นอกประเทศเนเธอร์แลนด์
– หากคุณและคุ่สมรสของคุณไม่ได้เป็นคนเนเธอร์แลนด์ คุณหรือคู่สมรมรส อย่างน้อย 1 คนต้องอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์
– หากคุณอาศัยอยู่นอกประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณหรือคู่สมรสของคุณ อย่างน้อย 1 คนต้องเป็นคนเนเธอร์แลนด์
– หากคุณเป็นต่างชาติ และต้องการจดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ คุณต้องยังมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวคือ บัตรประชาชนของคุณยังมีผลเท่านั้น จึงจะสามารถขอจดทะเบียนสมรสได้
เงื่อนไขสำคัญในการทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (Samenlevingscontract)
– คุณต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี
– คุณต้องไม่อยู่ในสถานะ curatele
– คุณต้องจัดทำสัญญาไปตามกฏของข้อกฏหมาย
– คุณสามารถจัดทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกันกับบุคคลได้มากกว่า 1 คน พร้อมๆกัน
ขั้นตอนในการจดทะเบียสมรสและการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์
– ยื่นคำร้อง เพื่อขอจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่พนักงานของเมืองที่คุณอยู่ และเอกสารสำคัญที่คุณต้องยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ คือ ใบเกิด ใบรับรองโสด เป็นต้น
– ใช้ระยะเวลาขั้นต่ำ 2 สัปดาห์หลังจากคุณยื่นคำร้องขอจดทะเบียน ทางเจ้าหน้าที่พนักงานจึงจะยืนยันว่าคุณสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่แล้วจึงสามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ แต่ในบางกรณีก็มีข้อยกเว้นให้จดทะเบียนได้ก่อน ได้รับการยืนยัน เช่นคู่สมรสของคุณป่วยหนักมากและมีความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตในไม่ช้า
– คุณจะต้องมีพยานในการจดทะเบียนของคุณ ขั้นต่ำ 2 คนและมากที่สุดไม่เกิน 4 คน พยานจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีและจะต้องให้ชื่อและที่อยู่ต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน
– ในการจดทะเบียนสมรส เมื่อคุณยื่นคำร้องขอจดทะเบียน เจ้าหน้าที่จะนัดหมายวันจดทะเบียนสมรส และในวันนั้น คุณและคู่สมรสของคุณจะต้องมีการกล่าว คำยืนยัน (Ja word) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่พนักงาน แต่สำหรับการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ไม่มีข้อบังคับให้กล่าว
– ใบทะเบียนสมรสจะต้องมีการลงนามของคุณและคู่สมรสของคุณ รวมถึงพยาน และเจ้าหน้าที่พนักงาน จึงจะมีผลทางกฏหมายอย่างถูกต้อง
– ในการจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมให้แก่อำเภอ แต่ในทุกๆอำเภอก็จะมีวันที่สามารถจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ได้ฟรีปลอดค่าธรรมเนียมเช่นกัน ลองสอบถามและตรวจสอบกับเมืองที่คุณอยู่
– หลังจากจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่พนักงานแล้ว คุณสามารถไปจัดพิธีทางศาสนาในโบสถ์ได้ เพื่อขอรับพรได้อีก แต่จะไม่จัดก็ได้ ไม่มีข้อบังคับ
ขั้นตอนการทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (Samenlevingscontract)
ขั้นตอนการทำสัญญาข้อตกลงในการอยู่ด้วยกัน (Samenlevingscontract) สามารถเลือกทำได้เอง ไม่จำเป็นต้องให้สำนักงานทนายความดำเนินการให้ แต่อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า หากต้องการเขียนข้อตกลงเพื่อรับเงินเกษียณ เงินบำนาญของคู่ของคุณ ขอรับสิทธิต่างๆแทนคู่ของคุณเมื่อเสียชีวิต จะต้องให้สำนักงานทนายความเป็นคนดำเนินการ
การจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทย
การจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทยนั้น สามารถทำได้เช่นกัน โดยขั้นตอนเป็นดังต่อไปนี้
ฝ่าย ชาย/หญิง สัญชาติเนเธอร์แลนด์ เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้มาจาก เนเธอร์แลนด์ โดยสามารถไปขอเอกสารเหล่านี้ได้จาก Gemeente ที่อาศัยอยู่
– Passport
– ใบรับรองการเกิด หรือ ใบเกิด
– ใบรองรองโสด โดยที่ใบรับรองโสดจะต้องมีอายุไม่เกิน 12 เดือน
– ทะเบียนหย่า หากเคยผ่านการแต่งงานมาก่อน
ฝ่ายชาย/หญิง สัญชาติไทย เอกสารที่จะต้องเตรียม
– Passport
– ใบรองรองโสด ผ่านการแปล และรับรองจากกรมการกงสุล และ สถานทูตเนเธอร์แลนด์
– ทะเบียนบ้าน ผ่านการแปล และรับรองจากกรมการกงสุล และ สถานทูตเนเธอร์แลนด์
เมื่อมีเอกสารครบแล้ว ก็ทำการนัดหมายกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเพื่อขอหนังสือรับรองความสามารถในการสมรส หรือ Certificate of legal capacity to marry ปรกติถ้ายื่นเรื่องขอตอนเช้า ตอนบ่ายๆก็จะได้เอกสารตัวนี้กลับมา
เมื่อได้เอกสารนี้มาแล้ว นำไปแปลและรับรองที่กรมการกงสุล จากนั้นก็นำไปยื่นที่สำนักเงินเขต เพื่อทำการจดทะเบียนสมรส
สิทธิในสินสมรสเปลี่ยนไปอย่างไรในปี 2018 อ่านได้จากที่นี่
source : www.rijksoverheid.nl
หากเลือก Samenwonen เราสองคนต้องเขียนสัญญา เป็นภาษาอังกฤษ (ได้ไหม)และ ดิฉันจะขอวีซ่าชนิดใดได้คะ คือMVV visa ใช่ไหมคะ งงค่ะ เพราะยังใหม่มากค่ะ แฟนเป็นคนดัทช์ อายุ 68 ปี อายุเท่ากันค่ะ คุยกันมาแล้ว 3 ปี และ 2019 เดินทางไปเจอท่องเที่ยวกันแล้ว
หากเลือก Samenwonen เราสองคนจะเขียนสัญญา เป็นภาษาอังกฤษ (ได้ไหม)และ ดิฉันจะขอวีซ่าชนิดใดได้คะ คือMVV visa ใช่ไหมคะ แฟนเป็นคนดัทช์ อายุ 68 ปี อายุเท่ากันค่ะ คุยกันมาแล้ว 3 ปี และ ปีที่แล้ว 2019 เดินทางไปเจอท่องเที่ยวกันแล้ว ชอบกันมาก ตกลงจะอยู่ด้วยกันและท่องเที่ยวกันค่ะ
รอคำตอบค่ะ
ถ้าจะมีอยู่ระยะยาว ต้องทำวีซ่า mvv คะ เรื่องทำสัญญา ต้องการทำภาษาอังกฤษได้คะ หากต้องการให้รับรองคลอบคลุม ตามกฏหมาย ควรไปจดที่ สำนักงานกฏหมาย น่าจะเหมาะกว่าคะ ทั้งนี้เนื้อหาในสัญญาอยู่ที่คุณทั้งสองจะตกลงกันเองนะคะ